แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยแต่งกายเป็นภิกษุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูปยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป แสดงท่าทางล้อเลียนถลึงตาอ้าปาก นอกจากจะเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทธรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2539 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 เวลากลางคืนหลังเที่ยงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้แต่งกายเป็นภิกษุแล้วยกตนขึ้นยืนเสมอพระพุทธรูปปางห้ามญาติ และรูปปั้นหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งเป็นวัตถุอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของพุทธศาสนิกชน ด้วยการใช้เท้าเหยียบที่ฐานพระพุทธรูป และทำท่าทาง หน้าตาล้อเลียนพระพุทธรูปและรูปปั้นดังกล่าว อันเป็นการเหยียดหยามพุทธศาสนา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 354/2543 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อประมาณปี 2539 จำเลยแต่งกายเป็นภิกษุยืนอยู่ระหว่างพระพุทธรูปปางห้ามญาติและรูปปั้นหลวงปู่แหวนโดยเท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติและทำท่ายกมือขวาขึ้นเช่นเดียวกับพระพุทธรูปปางห้ามญาติและมีผู้ถ่ายรูปไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้นำภาพถ่ายของจำเลยที่แสดงท่าทางดังกล่าวมาลงพิมพ์เผยแพร่ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระพุทธรูปเป็นที่เคารพสักการะในทางศาสนาของประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธทั่วไป การกระทำของจำเลยตามที่ปรากฏในภาพถ่าย จำเลยแต่งกายเป็นภิกษุแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ โดยเท้าจำเลยอยู่บนส่วนหนึ่งของพระบาทพระพุทธรูปยกมือขวาขึ้นเลียนแบบพระพุทธรูป ส่วนใบหน้าของจำเลยแสดงท่าทางล้อเลียนถลึงตาอ้าปากเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพต่อพระพุทธรูปแล้ว จำเลยยังได้แสดงตนเสมอกับพระพุทธรูป จึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรและเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยทำพิธีรักษาโรคโดยนั่งเพ่งกระแสจิตเกิดตัวลอยขึ้นไปยืนอยู่บนฐานพระพุทธรูปไม่มีเจตนาล้อเลียนนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น