คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สหกรณ์แม้จะได้เลิกกิจการไปแล้ว ก็ยังถือว่าคงดำรง อยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ดังนั้นสภาพการเป็นนิติบุคคลของสหกรณ์ยังไม่สิ้นสุดลง นิติสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างของสหกรณ์กับสหกรณ์นายจ้างจึงหาได้สิ้นสุดลงไม่ การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ผู้ชำระบัญชี มีหน้าที่สะสาง ติดตามทรัพย์สินของสหกรณ์ที่มีอยู่มาจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จะถือว่านายจ้างผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้างไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างทวงถามเมื่อใดแล้วลูกจ้างก็ชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการบริหาร มีอำนาจหน้าที่ต่างๆแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์กับพวกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้เงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะการบอกเลิการจ้างได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีมีหน้าทีสะสางติดตามทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่มาจ่ายให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางสอบถามคู่ความว่า ร้านสหกรณ์โรงงานกระดาษบางปะอิน จำกัด จำเลยที่ 1โดยนายใบ ทองกลม จำเลยที่ 2 เป้นประธานกรรมการ ต่อมาได้ประกาศเลิกกิจการตามประกาศนายทะเบียนสหกรรณ์ ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2529และได้แต่งตั้งนางศรีสมร สนองญาติ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีในวันเดียวกันนั้น ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 2ประธานกรรมการได้ออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่และคดีฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า คำสั่งเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2529 โดยจำเลยยังมิได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง
ข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า สภาพการเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงโดยการเลิกกิจการ มีผลให้นิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้างสิ้นสุดลงด้วย จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 89 บัญญัติไว้ใจความว่า สหกรณ์นั้นแม้จะได้เลิกกิจการไปแล้วก็ให้ถือว่ายังคงดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แสดงว่าสภาพการเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ยังไม่สิ้นสุดลงตามบทกฎหมายดังกล่าวนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ทั้งสี่จึงหาได้สิ้นสุดลงดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3มีหน้าที่ติดตามทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่มาจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นไม่ถูกต้อง กรณีไม่มีเหตุสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคคีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 นั้น พิเคราะแล้วคดีได้ความเป็นยุติว่าร้านสหกรณ์โรงงานกระดาษบางประอิน จำกัดจำเลยที่ 1 ได้เลิกกิจการและได้มีการแต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชี จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจหน้าที่ในการชำระบัญชีตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ส่วนที่ 5 ว่าด้วยการชำระบัญชีโดยมาตรา 89 บัญญัติว่า “สหกรณ์นั้นแม้จะได้เลิกไปแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี” มาตรา 90บัญญัติว่า “ให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของสหกรณ์จัดการชำระหนี้ และจำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์นั้นให้เสร็จไป”และมาตรา 94 บัญญัติว่า “ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจดังต่อไปนี้…ฯลฯ ..(4) ดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีอาญาและประนีประนอมยอมความในเรื่องใด ๆ ในนามของสหกรณ์” ดังนี้ เห็นว่า แม้ร้านสหกรณ์โรงงานกระดาษบางปะอิน จำกัด จำเลยที่ 1 จะได้กิจการไปแล้วก็ตามแต่ตามกฎหมายให้ถือว่ายังคงดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีของจำเลยที่ 3 ผู้ชำระบัญชีที่จะกระทำการชำระสะสางกิจการ จัดการชำระหนี้และจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 รวมทั้งดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีนี้ให้เสร็จไปในนามของจำเลยที่ 1และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจึงมีหน้าที่จัดการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ในนามของจำเลยที่ 1ให้เสร็จสิ้นไป ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3ในฐานะผู้ชำระหนี้ดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52ดังที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ไม่อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ประการสุดท้ายที่ว่า การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสี่นับแต่วันเลิกจ้างนั้นไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สำหรับสินจ้างแทนบอกกล่าวล่วงหน้านั้นไม่มีกฎหมายบังคับในนายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จะถือว่าผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้างหาได้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าทวงถามเมื่อใดจึงชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2529 อันเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นจึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”.

Share