คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 362 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานบุกรุก นั้น มีความหมายเป็นสองตอน ตอนแรกรบกวนกรรมสิทธิ์ ตอนที่สองรบกวนสิทธิครอบครอง ฉะนั้น จึงหมายรวมถึงการกระทำอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าโดยปกติสุขด้วย เพราะผู้เช่าก็เป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า จึงเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้นำคดีขึ้นว่ากล่าว เอาโทษแก่ผู้บุกรุกได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2504)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปทำรั้วและปลูกสร้างกันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายฟองซึ่งเช่ามาจากวัดคงคาสวัสดิ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ ให้ปรับจำเลย ๒๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ปรึกษาในที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ความผิดฐานบุกรุกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๒ เป็นกรณีที่ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขตามบทกฎหมายนี้ ย่อมหมายความถึงการกระทำใดๆ อันเป็นการรวบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าโดยปกติสุขด้วย เพราะผู้เช่าก็เป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เช่า พิจารณาเฉพาะถ้อยคำในตัวบทแล้ว ก็มีทางน่าคิดดังศาลอุทธรณ์ว่า เพราะตอนต้นใช้คำว่าเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครอง ฯลฯ และต่อมาใช้คำว่า หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข คำว่า “ของเขา” ในตอนหลังจึงน่าจะหมายถึงผู้อื่นในตอนต้นซึ่งผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาตัวบทมาตรา ๓๖๒ นี้แล้วเห็นว่า มีความหมายเป็นสองตอน คือ ตอนแรก รบกวนกรรมสิทธิ์ ตอนที่สองรบกวนสิทธิครอบครอง หากแต่ตัวบทใช้คำว่า “ของเขา” จึงทำให้เข้าใจไขว้เขวไป ผู้เช่าจึงเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์มอบคดีให้เจ้าพนักงานว่ากล่าวเอาโทษแก่จำเลยในคดีนี้ได้
แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาในฟ้องของโจทก์ว่าเป็นประการใด อันเป็นสารสำคัญที่จะฟังว่าจำเลยจะมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ หรือไม่
ฉะนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสีย ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นประการใด และพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share