คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินค่าล่วงเวลา และเงินค่าทำงานในวันหยุดนั้น มิใช่ค่าจ้างเพราะมิใช่เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานตามปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ฉะนั้นเงินค่าล่วงเวลาและเงินค่าทำงานในวันหยุดจึงมิใช่ค่าจ้างที่จะนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หรือใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 36,000 บาท คืนเงินประกัน 5,000 บาท จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 2,400 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี เป็นเงิน 5,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารโดยเป็นลูกจ้างรายวัน โจทก์ได้รับค่าจ้างรายวันวันละ 73 บาท โดยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าเกิน 8 ชั่วโมงจะได้ค่าล่วงเวลาเป็นการเหมาจ่าย ต่อมาโจทก์ทำผิดข้อตกลงที่ทำกันไว้จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยชอบ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2527 ในตำแหน่งพนักงานขับรถได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 73 บาท ต่อมาโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับการทำงาน โดยขับรถเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีหนี้เกินเงินค่าประกันความเสียหายและไม่มีบุคคลค้ำประกัน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2530 การเลิกจ้างดังกล่าวไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์แต่ไม่มีเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทำงานครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี ก่อนออกจากงานโจทก์มีรายได้เดือนละ 4,417 บาท เท่ากับวันละ 147.23บาท ตามบัญชีจ่ายเงินรายได้ของพนักงาน เอกสารหมาย ล.8 แผ่นที่1 ถึงที่ 4 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน เป็นเงิน 13,251 บาท สำหรับเงินประกันความเสียหายนั้นโจทก์เป็นหนี้จำเลยเนื่องจากขับรถเกิดอุบัติเหตุ จำเลยต้องนำเงินประกันไปใช้หนี้โจทก์ไม่อาจเรียกคืนได้ ส่วนค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้นโจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทำงานในวันดังกล่าวด้วยหากโจทก์ทำงานจำเลยก็จ่ายค่าจ้างให้แล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 13,251 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ก่อนออกจากงานโจทก์มีรายได้เดือนละ4,417 บาท เท่ากับวันละ 147.23 บาท จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 13,251 บาท นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันวันละ 73 บาท หากโจทก์ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ส่วนที่เกินจำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาให้หนึ่งเท่าครึ่งของค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานปกติ เป็นการเหมาจ่ายโดยคิดจากเงินส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารในแต่ละวันที่เก็บได้ เงินส่วนนี้ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะไม่ใช่เงินตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินรายได้เดือนละ 4,417 บาท เท่ากับวันละ 147.23 บาท นั้นจึงเป็นจำนวนเงินที่นำเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าวมารวมอยู่ด้วย ซึ่งจะใช้เป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วยไม่ได้ ในปัญหาข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังว่าก่อนออกจากงานโจทก์มีรายได้เดือนละ 4,417บาท เท่ากับวันละ 147.23 บาท ตามบัญชีจ่ายเงินรายได้ของพนักงานเอกสารหมาย ล.8 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 4 พิเคราะห์แล้ว ได้ความตามเอกสารหมาย ล.8 ซึ่งศาลแรงงานกลางหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เฉพาะแผ่นที่ 1 นั้น ระบุรายได้ของโจทก์ไว้ว่า โจทก์ทำงาน 4 วัน ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 292 บาท ค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 745.75 บาท ค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงิน 73 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นเงิน 96.25บาท แผ่นที่ 2 โจทก์ทำงาน 3 วัน ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 219 บาทค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 497 บาท แผ่นที่ 3 โจทก์ทำงาน 4 วัน ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 292 บาท ค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 659 บาท และแผ่นที่4 โจทก์ทำงาน 6 วัน ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน 438 บาท ค่าล่วงเวลาเป็นเงิน 1,067 บาท ค่าทำงานในวันหยุดเป็นเงิน 73 บาท ตามหลักฐานดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับเฉพาะค่าจ้างในอัตราวันละ 73บาท ส่วนเงินค่าล่วงเวลา และเงินค่าทำงานในวันหยุดนั้น มิใช่ค่าจ้าง เพราะมิใช่เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ฉะนั้นเงินค่าล่วงเวลาจึงมิใช่ค่าจ้างที่จะนำมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 73 บาท เป็นเวลาเก้าสิบวัน เป็นเงิน 6,570 บาทที่ศาลแรงงานกลางคำนวณค่าชดเชยให้แก่โจทก์โดยนำเอาเงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดมารวมเป็นฐานคำนวณด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษาแก้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 6,570 บาท แก่โจทก์.

Share