คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการจัดทำแผนที่ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียง และเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ แม้ถนน ซอย และสถานที่ต่างๆ ที่ลงในแผนที่จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง แต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้น อันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งและเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง
แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่า ว. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวได้ลิขสิทธิ์มาจากการรับโอนจากผู้สร้างสรรค์งาน แตกต่างจากคำฟ้องที่บรรยายว่า ว. เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เอง แต่ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันนี้เป็นเพียงรายละเอียดของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของ ว. เท่านั้น ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
แผนที่ที่ ว. มีลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิมที่ทำในปี 2529 คือแผนที่เอกสารหมาย จ.28 แต่ ว. โอนลิขสิทธิ์ให้ บ. ครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี โดยแต่ละครั้งที่สิ้นสุดกำหนดเวลาโอนลิขสิทธิ์ทำให้ ว. ได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมานั้น ย่อมได้คืนเฉพาะงานแผนที่ที่ได้โอนไปแต่แรกตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น ส่วนแผนที่เพิ่มเติมที่ บ. ปรับปรุงย่อมไม่โอนไปยัง ว. เพราะไม่มีข้อตกลงให้โอนลิขสิทธิ์ส่วนที่สร้างสรรค์เพิ่มเติม เมื่อ ว. ได้ลิขสิทธิ์ในแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 กลับคืนมาแล้วโอนลิขสิทธิ์ต่อแก่โจทก์ โจทก์นำมาจัดพิมพ์เป็นแผนที่เอกสารหมาย จ.18 จึงมีส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 อยู่ด้วยส่วนหนึ่งกับส่วนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์โดยการรับโอนจาก ว. เฉพาะแผนที่ส่วนดั้งเดิมและย่อมมีอำนาจฟ้องเฉพาะส่วนดังกล่าว
แม้การทำแผนที่ออกมาเหมือนกัน โดยบุคคลคนละคนกันอาจเป็นเพราะเป็นการจัดทำจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่จริงโดยไม่ได้ลอกเลียนกันอันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากการทำแผนที่เหมือนกันโดยใช้แผนที่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเป็นต้นแบบในคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลง ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เมื่อเปรียบเทียบแผนที่ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์กับแผนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว พบส่วนที่คลาดเคลื่อนเหมือนกัน 3 รายการ ย่อมแสดงได้ว่าเป็นการลอกเลียนจากแผนที่ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ แต่โจทก์มีลิขสิทธิ์เฉพาะงานแผนที่ที่สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลอกเลียนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่พัฒนามาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.28 มาก จนไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำซ้ำโดยการคัดลอกงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คงถือได้ว่าเป็นเพียงการดัดแปลงเท่านั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายแผนที่ของตนก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่างานนั้นทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วนของงานตามฟ้องจึงสมควรกำหนดโทษให้น้อยลงตามสมควรด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 17, 27, 31, 32, 69, 70, 74, 75, 76 ให้จ่ายค่าปรับแก่โจทก์กึ่งหนึ่งและให้แผ่นพับแผนที่ที่จำเลยทั้งสามทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหมดตกเป็นของโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการกระทำกรรมเดียวจึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับ 300,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 300,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ยกคำขอให้แผนที่ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของโจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า งานแผนที่ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมาข้างต้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงใดหรือไม่ เห็นได้ว่า ในการจัดทำแผนที่เอกสารหมาย จ.10 และ จ.28 นี้ ประกอบด้วยการดำเนินการในขั้นตอนของการสำรวจ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เรียบเรียงและเลือกใช้ข้อมูล แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมานำเสนออันเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดในรูปแบบของแผนที่ เมื่อปรากฏว่าข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญในแผนที่ดังกล่าวที่นำเสนอในรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คือเส้นทางลัดที่ไม่ได้เคยมีปรากฏในแผนที่ที่เคยมีอยู่เดิมมาก่อน โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการเดินสำรวจพื้นที่แล้วจำลองขึ้นเป็นแผนที่เอกสารหมาย จ.10 นำมาคัดเลือกเส้นทางจากถนนและซอยซึ่งมีอยู่หลายสายที่เชื่อมต่อกัน ให้ได้เส้นทางลัดตามที่สมควรระบุไว้โดยแสดงให้ปรากฏเส้นทางลัดในแผนที่ซึ่งใช้เส้นสีเหลืองเฉพาะส่วนที่เป็นเส้นทางลัด แม้ว่าถนนซอยและสถานที่ต่าง ๆ ที่นำมาจำลองลงในแผนที่นี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงในพื้นที่ก็ตามแต่ก็ต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและความรู้ความสามารถในการสำรวจวัดระยะและจำลองรูปแผนที่โดยใช้มาตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อให้ได้รูปแผนที่ที่ถูกต้องมีประโยชน์ในการใช้งานย่อมเป็นการสร้างสรรค์งานแผนที่ขึ้นอันเป็นงานศิลปกรรมอย่างหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวมาข้างต้นและโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในลิขสิทธิ์งานแต่ผู้เดียวในงานแผนที่อันเป็นศิลปกรรม จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6 วรรคหนึ่ง และ 15 วรรคหนึ่ง และเมื่อผู้สร้างสรรค์งานแผนที่ได้ทำหนังสือโอนลิขสิทธิ์ตลอดอายุการคุ้มครองให้แก่นางวรรณทนาแล้วเช่นนี้ จึงฟังได้ว่านางวรรณทนาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานแผนที่นี้ดังที่ปรากฏให้เห็นได้จากหนังสือแผนที่เอกสารหมาย จ.28 ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกไกด์ได้รับโอนลิขสิทธิ์จากนางวรรณทนาแล้วนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือแผนที่ฉบับนี้ขึ้นมานั่นเอง และแม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาของศาลว่า นางวรรณทนาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวโดยได้ลิขสิทธิ์มาจากการรับโอนจากผู้สร้างสรรค์งาน ซึ่งแตกต่างจากคำฟ้องที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า นางวรรณทนาเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เองก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันนี้ก็เป็นเพียงรายละเอียดของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของนางวรรณทนาเท่านั้น อันเป็นเพียงข้อเท็จจริงรายละเอียดซึ่งมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ก็ให้การในชั้นพิจารณาโดยปฏิเสธทั้งในข้อเท็จจริงที่ว่านางวรรณทนามิได้สร้างสรรค์งานแผนที่นี้และนางวรรณทนาไม่ได้รับโอนลิขสิทธิ์มาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย นอกจากนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยทั้งสามก็ใช้สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2552 ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ปากนางวรรณทนา โดยคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นคดีระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกไกด์ โจทก์ บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 16 คน จำเลย ทั้งนี้โดยคดีดังกล่าวโจทก์โดยนางวรรณทนาผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ก็นำสืบพยานหลักฐานตามที่ปรากฏข้อความในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวว่าโจทก์ได้นำสืบว่าคณะทำงาน 4 คน ที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่ตกลงมอบลิขสิทธิ์แก่นางวรรณทนาโดยทำหนังสือไว้ ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็วินิจฉัยว่านางวรรณทนามิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์เอง แต่ก็ยังวินิจฉัยว่านางวรรณทนามีลิขสิทธิ์เช่นกันโดยวินิจฉัยถึงพฤติการณ์ที่นางวรรณทนาออกค่าใช้จ่ายให้แก่คณะสำรวจรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่ว่าถือเป็นการว่าจ้างซึ่งทำให้นางวรรณทนาได้ลิขสิทธิ์ในฐานผู้ว่าจ้างให้คณะบุคคลดังกล่าวสร้างสรรค์โดยไม่ได้วินิจฉัยถึงหนังสือโอนลิขสิทธิ์ แต่คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวก็ไม่ผูกพันคดีนี้ซึ่งมีคู่ความต่างกันทั้งโจทก์และจำเลย ในอันจะฟังข้อเท็จจริงว่านางวรรณทนาได้ลิขสิทธิ์มาโดยการที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหนังสือโอนลิขสิทธิ์ให้ดังกล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบรายละเอียดข้อความในคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวอยู่ก่อนให้การคดีนี้แล้ว ก็ย่อมมีข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อใช้ในการต่อสู้คดีได้เป็นอย่างดี ไม่มีเหตุที่จะหลงต่อสู้เพราะเหตุที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้คลาดเคลื่อนแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่นำสืบพยานหลักฐานมาในชั้นพิจารณาคดีนี้ ศาลย่อมรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดดังกล่าวตามที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้แม้จะแตกต่างจาก คำฟ้องของโจทก์ก็ตาม โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่า งานแผนที่ตามแผ่นพับรูปแผนที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางด่วน – ทางลัด ที่โจทก์อ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์โดยได้รับโอนจากนางวรรณทนาตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4 และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแผนที่ดังกล่าวนั้นโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นได้ว่า แผนที่ที่นางวรรณทนามีลิขสิทธิ์อยู่แต่เดิมที่ทำในปี 2529 คือแผนที่ตามที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.28 แต่นางวรรณทนาทำหนังสือโอนลิขสิทธิ์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกไกด์ครั้งละ 10 ปี รวม 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 ปี โดยแต่ละครั้งที่สิ้นสุดกำหนดเวลาโอนลิขสิทธิ์อันทำให้นางวรรณทนาได้ลิขสิทธิ์กลับคืนมานั้นก็ย่อมได้คืนเฉพาะงานแผนที่ที่ได้โอนไปแต่แรก ซึ่งก็คือแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อนางวรรณทนาได้ลิขสิทธิ์ในส่วนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 กลับคืนมาหลังจากครบกำหนดเวลา 10 ปี ตามหนังสือโอนลิขสิทธิ์แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกไกด์ ครั้งที่ 2 ซึ่งครบกำหนดวันที่ 20 กรกฎาคม 2549 แล้วทำหนังสือโอนลิขสิทธิ์ต่อแก่โจทก์ตามที่โจทก์นำมาจัดพิมพ์เป็นแผนที่ตามฟ้องเอกสารหมาย จ.18 นั้น ก็ยังมีส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 อยู่ด้วยส่วนหนึ่งกับส่วนที่มีการพัฒนาปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติมไปมากอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแม้ส่วนเพิ่มเติมนี้ไม่ใช่แผนที่ที่นางวรรณทนามีลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่นางวรรณทนาก็มีลิขสิทธิ์ในส่วนตามแผนที่เอกสารหมาย จ.28 ที่โอนให้เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ และโจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์โดยการรับโอนจากนางวรรณทนาเฉพาะแผนที่ส่วนดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 ที่ยังปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในแผนที่ตามฟ้องเอกสารหมาย จ.18 เท่านั้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดลิขสิทธิ์งานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 หากส่วนที่กระทำละเมิดอยู่ในส่วนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์อันได้แก่ส่วนที่เป็นแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 ที่ยังปรากฏอยู่ในแผนที่เอกสารหมาย จ.18 ด้วยแล้ว ก็ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้เฉพาะในส่วนที่เป็นแผนที่ดั้งเดิมตามเอกสารหมาย จ.28 เท่านั้น และย่อมมีอำนาจฟ้องเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานแผนที่ที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอำนาจฟ้องในส่วนอื่นนอกจากส่วนที่มีลิขสิทธิ์นั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์เฉพาะในงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ตามฟ้องเอกสารหมาย จ.18 หรือไม่ ในข้อนี้เมื่อพิจารณาแผนที่ของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.18 ประกอบกับแผนที่เท่าที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.28 ประกอบกันเปรียบเทียบกับแผนที่ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว ปรากฏว่าแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.1 มีรายละเอียดถนน เส้นทางลัดและสถานที่ต่าง ๆ คล้ายกับแผนที่เอกสารหมาย จ.18 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแม้ว่าการทำแผนที่ออกมาเหมือนกันโดยบุคคลคนละคนกันที่แสดงถึงถนนซอยและสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจเป็นการทำเหมือนกันเพราะเป็นการจำลองจัดทำจากสภาพพื้นที่ที่มีอยู่จริงแสดงถึงเส้นทางที่ปรากฏตามจริงโดยไม่ได้ลอกเลียนกันอันไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่หากการทำแผนที่เหมือนกันโดยใช้แผนที่ที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเป็นต้นแบบในการคัดลอก ทำซ้ำหรือดัดแปลงย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจากพยานหลักฐานดังกล่าวมาเห็นได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมานั้นมีรายละเอียดสอดคล้องต้องกันประกอบด้วยเหตุผลให้มีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคง ส่วนพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีพิรุธ ไม่สมเหตุสมผลจึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.1 โดยลอกเลียนจากแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่ประกอบด้วยแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ด้วยส่วนหนึ่งเพื่อนำออกขายหากำไรโดยมีเจตนากระทำการดังกล่าว แต่โดยที่โจทก์มีลิขสิทธิ์เฉพาะงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 ที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งในแผนที่เอกสารหมาย จ.18 โดยแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 2529 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดบางกอกไกด์ได้พัฒนาปรับปรุงตามเวลาที่ผ่านไปนานประมาณ 20 ปี อันทำให้สภาพพื้นที่กรุงเทพมหานครมีถนนและสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาก ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลอกเลียนแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.18 ที่พัฒนามาจากแผนที่เอกสารหมาย จ.28 มาก จนไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการทำซ้ำโดยการคัดลอกงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 คงถือได้ว่าเป็นเพียงการดัดแปลงเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนเฉพาะงานแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.28 ของโจทก์ที่ได้รับโอนลิขสิทธิ์จากนางวรรณทนาโดยเป็นเพียงลิขสิทธิ์ส่วนหนึ่งของแผนที่เอกสารหมาย จ.18 ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ และเมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ในการทำแผนที่เอกสารหมาย จ.1 เอง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายแผนที่ของตนก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่างานแผนที่ที่จำหน่ายไปนั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) แต่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกันแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วนของงานตามคำฟ้องจึงสมควรกำหนดโทษให้น้อยลงตามสมควรเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 200,000 บาท และลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3

Share