คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535-13536/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศบาฮามาส ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องและให้ผู้ร้องบริหารแผนและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง ระหว่างนั้นอันเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดโดยมีข้อตกลงให้นำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ภายใต้กฎการอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติและให้ใช้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์บังคับแก่สัญญา ต่อมาผู้คัดค้านอ้างว่า ผู้ร้องผิดสัญญาจึงนำข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาและให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน โดยระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง แต่ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลาง ดังนี้ แม้การเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์ชี้ขาดนั้นจะเป็นการดำเนินการไปตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้าน ซึ่งต้องดำเนินการไปตามข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิง (Term of Reference) ของอนุญาโตตุลาการและกฎหมายภายในของประเทศสิงคโปร์ และมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำเอาผลคำวินิจฉัยชี้ขาดมาบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ในประเทศไทย ในขณะที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการย่อมเป็นการกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องตามมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งต้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางก่อน มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้ในราชอาณาจักรกับเจ้าหนี้นอกราชอาณาจักรซึ่งมาตรา 90/12 (4) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้จำกัดหรือแยกให้แตกต่างกัน แม้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์จะเป็นไปตามข้อตกลงและดำเนินการตามข้อกำหนดและกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และอาจไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำคำชี้ขาดมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องในประเทศไทยก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงไม่อาจนำหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์มาบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของผู้ร้องในคดีล้มละลายได้ เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 43

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ว่า ผู้ร้อง และเรียก เฮชซี เทรดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล อิ๊งค์ ว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของผู้ร้อง
สำนวนที่สองผู้คัดค้านยื่นคำร้องและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ ให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน 2,964,151.20 ดอลลาร์สหรัฐ กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จโดยมีรายละเอียดคือ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 257,211 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,012 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 365,792.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 763,274.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 319,864.64 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 263,739.59 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 694,257.46 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้ร้องชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการ อันประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของหอการค้าระหว่างประเทศ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการ 240,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด (30 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้ร้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายการอนุญาโตตุลาการ 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ผู้ร้องชำระค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการที่กำหนดโดยคณะอนุญาโตตุลาการเป็นเงิน 572,755.33 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งหอการค้านานาชาติ ดังนี้
1. ให้ผู้ร้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 2,964,151.20 ดอลลาร์สหรัฐ กับดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวอัตราร้อยละ 5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนี้
1.1 ดอกเบี้ยอัตราละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 257,211 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จ
1.2 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 300,012 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ
1.3 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 365,792.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ
1.4 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 763,274.25 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จ
1.5 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 319,864.64 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ
1.6 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 263,739.59 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ และ
1.7 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 694,257.46 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จ
2. ให้ผู้ร้องชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการ อันประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของหอการค้าระหว่างประเทศและค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งกำหนดโดยสภาหอการค้าระหว่างประเทศ ตามข้อ 31 ของข้อบังคับว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศจำนวน 240,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด (30 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ
3. ให้ผู้ร้องชำระค่าใช้จ่ายอนุญาโตตุลาการจำนวน 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ
4. ให้ผู้ร้องชำระค่าทนายความและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายที่เกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องกับการอนุญาโตตุลาการ ที่กำหนดโดยคณะอนุญาโตตุลาการเป็นเงินจำนวน 572,755.33 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 5.33 ต่อปี นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ หากผู้ร้องจะชำระเป็นเงินไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐละ 31.8548 บาท ตามที่ผู้คัดค้านขอ กับให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศบาฮามาส ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องและกำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้บริหารแผนจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2552 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้อง วันที่ 6 ธันวาคม 2543 อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดจำนวนสามฉบับ มีข้อตกลงให้นำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์ภายใต้กฎการอนุญาโตตุลาการของหอการค้าระหว่างประเทศ และให้ใช้กฎหมายของประเทศสวิตเซอร์แลนด์บังคับใช้แก่สัญญา ต่อมาผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องผิดสัญญา จึงนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์ คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญาให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้คัดค้าน ประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ต่างเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการและผู้คัดค้านมีอำนาจร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการหรือไม่ ในปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกันโดยผู้ร้องกล่าวอ้างว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินการพิจารณาและวินิจฉัย ผู้ร้องอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องและผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการนั้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้ (4) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 และศาลล้มละลายกลางรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว กรณีจึงต้องห้ามให้มีการเสนอข้อพิพาทที่ผู้ร้องอาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ดังนั้นเมื่อข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านเสนอให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านจำนวนสามฉบับ ซึ่งทำขึ้นพร้อมกันในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 มูลแห่งหนี้ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งคือสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดทั้งสามฉบับจึงเกิดขึ้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2543 ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ซึ่งตามมาตรา 90/12 (4) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ดังกล่าว ห้ามให้มีการเสนอข้อพิพาทที่ผู้ร้องอาจต้องรับผิดหรือได้รับความเสียหายให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด แม้การเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดนั้น ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการที่ประเทศสิงคโปร์เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดอันเป็นไปตามข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาซื้อขายปูนซีเมนต์เม็ดระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งการดำเนินการอนุญาโตตุลาการระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านต้องดำเนินการไปตามข้อกำหนดเพื่อการอ้างอิง (Term of Reference) ของอนุญาโตตุลาการและกฎหมายภายในของประเทศสิงคโปร์และมีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำเอาผลคำวินิจฉัยชี้ขาดมาบังคับใช้กับลูกหนี้คือผู้ร้องในประเทศไทยซึ่งเป็นการบังคับแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องในประเทศไทยในขณะที่ผู้ร้องอยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการ ย่อมเป็นการกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ซึ่งต้องขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลางก่อน มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้ในราชอาณาจักรกับเจ้าหนี้นอกราชอาณาจักรซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) มิได้จำกัดหรือแยกให้แตกต่างกัน ดังนั้น แม้ว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์ที่พิพาทกันนี้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาและดำเนินการตามข้อกำหนดและกฎหมายภายในของประเทศสิงคโปร์และอาจไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ แต่การที่ผู้คัดค้านจะนำคำชี้ขาดมาใช้บังคับกับผู้ร้องในประเทศไทยเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ร้องในประเทศไทย ผู้คัดค้านก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้ทุกฝ่าย เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) บัญญัติไว้จึงไม่อาจนำหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์มาบังคับเอาแก่กองทรัพย์สินของผู้ร้องในคดีล้มละลายได้ เพราะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นกรณีที่ศาลมีอำนาจปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดที่ได้ทำขึ้นโดยคณะอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 43 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ประเด็นข้ออื่นตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งหอการค้านานาชาติเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share