คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13524/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานการเงินของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ดำเนินการนำเงินค่าไฟฟ้าที่เก็บมาได้ฝากเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารด้วยตนเอง ให้ถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยสูญเสียรายได้ในกิจการไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของนายจ้าง และเป็นความผิดทางวินัยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างหรือมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้เพิกถอนคำสั่งที่ ฝทม.249/2543 เรื่อง ไล่พนักงานออกจากงาน ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 และหนังสือที่ มท.5211.112/19/50 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ลงวันที่ 12 มีนาคม 2550 ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,445 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 349,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป และค่าชดเชย 104,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2524 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 17,470 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ครั้งสุดท้ายทำงานในตำแหน่งพนักงานการเงิน มีหน้าที่นำใบเสร็จรับเงินออกไปเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบการปฏิบัติงานของพนักงานการเงิน เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินออกไปเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากหน่วยราชการหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้แล้ว ต้องนำเงินสดหรือเช็คที่เก็บมาได้นำฝากเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน หากยังเรียกเก็บไม่ได้ต้องนำใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินส่งคืนให้กลุ่มงานควบคุมใบเสร็จรับเงินภายในวันเดียวกันหรืออย่างช้าภายในเช้าวันทำการถัดไปพร้อมกับทำรายงานสาเหตุให้หัวหน้ากลุ่มหรือรองหัวหน้ากลุ่มดำเนินการสั่งการอีกครั้งหนึ่ง กรณีเก็บเงินค่าไฟฟ้าได้ตามใบแจ้งหนี้ พนักงานเก็บเงินมีอำนาจลงนามในใบเสร็จรับเงินและมีหน้าที่ต้องรักษาเงินและนำเงินฝากธนาคารเข้าบัญชีของจำเลยด้วยตนเองแล้วนำหลักฐานใบฝากเงินมอบให้กลุ่มงานเก็บเงินเพื่อตรวจสอบกับรายการควบคุมใบเสร็จรับเงิน เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 โจทก์ได้รับมอบหมายให้ช่วยทำงานรับชำระค่าไฟฟ้าจากลูกค้าที่มาชำระในสำนักงานเพราะประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์บาดเจ็บเอ็นหัวเข่าขาดไม่สามารถออกไปทำงานเก็บเงินนอกสถานที่ได้สะดวก ต่อมาประมาณปลายเดือนกันยายน 2541 หัวหน้าแผนกเก็บเงินส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตรวจสอบหนี้ค้างชำระพบว่ามีการออกใบแจ้งหนี้แล้วยังไม่ชำระหนี้ 4 ราย หลังจากติดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้ง 4 รายแล้ว ได้รับแจ้งว่าชำระค่าไฟฟ้าครบถ้วนแล้วที่สำนักงานของจำเลย โดยมีใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ลงนามเป็นผู้รับชำระเงินไว้เป็นหลักฐาน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน เลขที่ ด.103346 ลงวันที่ 17 กันยายน 2541 จำนวน 10,000 บาท ใบเสร็จรับเงินเลขที่ 3637718 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 จำนวน 11,052.25 บาท ใบเสร็จรับเงินเลขที่ 1743643 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 จำนวน 6,208.50 บาท และใบเสร็จรับเงินเลขที่ 7694959 เดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 4,929.25 บาท โจทก์รับว่าเป็นผู้รับชำระเงินตามใบเสร็จรับเงินดังกล่าวไว้จริง แต่ปรากฏว่าไม่มีการนำเงินที่รับชำระเข้าบัญชีของจำเลย ต่อมาจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ฐานกระทำผิดวินัยร้ายแรง แล้วมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตามคำสั่งที่ ฝทม.249/2543 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 และจำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาโจทก์ข้อหายักยอกทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการ ระหว่างนั้นโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 คณะกรรมการจำเลยเห็นควรรอฟังผลการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก่อน เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่า โจทก์มีความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 คณะกรรมการจำเลยจึงมีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามบันทึกลงวันที่ 9 มกราคม 2550 และแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบแล้ว ตามหนังสือที่ มท.5211.112/19/50 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2550 โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่เลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าโจทก์ได้ส่งเงินค่าไฟฟ้าทั้ง 4 รายการให้แก่นายเทอดศักดิ์ หัวหน้ากลุ่มงานเก็บเงินและนายสมเจตน์ รองหัวหน้ากลุ่มงานเก็บเงิน ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เมื่อโจทก์รับว่าเป็นผู้รับชำระค่าไฟฟ้าทั้ง 4 รายการไว้แล้ว ปรากฏว่าไม่มีการนำเงินเข้าฝากธนาคารในบัญชีของจำเลย กรณีจึงเชื่อว่าโจทก์ได้นำเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต เป็นความผิดทางอาญาฐานยักยอกทรัพย์ และเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม คำสั่งที่ ฝทม.249/2543 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานชอบแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดฐานยักยอกเพราะเกินเลยอำนาจหน้าที่ของศาลแรงงาน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ยืนยันมาโดยตลอดว่าเมื่อได้รับเงินจากลูกค้าทั้งสี่รายแล้วโจทก์ได้นำส่งให้หัวหน้าหรือรองหัวหน้ากลุ่มงานมิได้เบียดบังเป็นของโจทก์นั้นเป็นเพียงเหตุอ้างเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่โจทก์อุทธรณ์ เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดทางวินัยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานการเงินของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่เก็บเงินค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ดำเนินการนำเงินค่าไฟฟ้าที่เก็บมาได้ฝากเข้าบัญชีของจำเลยในธนาคารด้วยตนเอง ให้ถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติงานหรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้จำเลยสูญเสียรายได้ในกิจการไป ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของนายจ้าง และเป็นความผิดทางวินัยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างหรือมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ ตามฟ้อง ดังที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share