แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีข้อกำหนดห้ามโอนสิบปีนับแต่วันที่ 25สิงหาคม 2520 สัญญาขายฝากทำกันเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2523 จึงอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา113 เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยทำสัญญาและมอบให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอน หลังจากนั้นต่อมาเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนแล้ว แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้สละสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด กลับได้ความว่าโจทก์ได้ให้เงินจำเลยทั้งสองไปชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ทุกปี และมิได้ขอให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าภายหลังพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วจำเลยทั้งสองสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นเรื่องโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นเจตนายึดถือเพื่อตนยังไม่ครบ 1 ปี ขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น กรณีของโจทก์นี้จะได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อเมื่อได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทมาจากจำเลยทั้งสองโดยการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ แต่เมื่อโจทก์ฎีกาว่าไม่มีประเด็นนี้เสียแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น แม้การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงทำให้โจทก์ชนะคดีแต่ประการใด ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249วรรคหนึ่ง