คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชั้นแรกโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า’AQUAFRESH’ ออกเสียงว่า แอควาเฟรช แต่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้ว การโต้เถียงกันในชั้นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา22 แต่ในคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศต่าง ๆเกือบทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีแล้วเป็นการอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 41(1) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า’AQUAFRESH’ (แอควาเฟรช) และคำว่า ‘AQUAFRESH PLUS’ (แอควาเฟรช พลัส) ใช้กับสินค้าจำพวกยาสีฟันของโจทก์จำหน่ายในประเทศต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้วและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘แอควาเฟรช’ ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับจำพวก 48 ทั้งจำพวก แต่นายทะเบียนไม่รับจดให้อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า’KWAFRESH’ (ควาเฟรช) และคำว่า ‘ควาเฟรช’ ในสินค้าจำพวก 48 ทั้งจำพวก ของจำเลยซึ่งนายทะเบียนรับจดไว้แล้ว โจทก์โฆษณานำออกจำหน่ายและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่างๆ ก่อนจำเลยจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์เสียหายเพราะจดทะเบียนในประเทศไทยไม่ได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้า คำว่า ‘KWAFRESH’ (ควาเฟรช) และคำว่า’ควาเฟรช’ ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่จำเลยผลิตและจำหน่ายต่อไปและให้จำเลยทำลายเครื่องหมายการค้าที่มีคำดังกล่าวอยู่กับสินค้าของจำเลยให้หมดสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าAQUAFRESH (แอควาเฟรช) มาครั้งหนึ่งแล้ว จำเลยได้ยื่นคัดค้านนายทะเบียนวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายคลึงเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการดังกล่าวได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยใช้คำเป็นภาษาไทย ว่า แอควาเฟรช แล้วโจทก์ได้นำมูลเหตุเดียวกันนี้มาฟ้องเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นคดีนี้อีกครั้งหนึ่งจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 22 จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีเสียงเรียกขานว่า เฟรชและเฟรชรวมอยู่ด้วยหลายเครื่องหมายรวมทั้งเครื่องหมายการค้าคำว่า KWAFRESH และควาเฟรชมาก่อนโจทก์ จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า KWAFRESH และคำว่า ควาเฟรช คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับคำขอที่ให้มีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า ‘KWAFRESH’และคำว่าควาเฟรชของจำเลยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นนี้ว่า ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 22 วรรคสี่ (1) หรือไม่และโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่ากัน
พิเคราะห์แล้ว สำหรับในปัญหาข้อแรกนั้น เห็นว่า กรณีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 22 เป็นเรื่องที่เมื่อมีผู้ร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเห็นควรรับจดทะเบียนจึงได้มีการประกาศ และถ้ามีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนดังกล่าว ก็ให้นายทะเบียนส่งสำเนาคำคัดค้านไปยังผู้ขอจดทะเบียน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนได้ยื่นคำโต้แย้งนายทะเบียนก็จะต้องดำเนินการตามวิธีที่กฎหมายกำหนดไว้และมีคำวินิจฉัย แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงมีสิทธิเลือกว่าจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยนั้นต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหรือฟ้องคดีต่อศาลซึ่งกรณีเช่นนี้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 มาตรา 22 วรรคสี่ (1) ได้บัญญัติว่า เมื่อผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว ผู้อุทธรณ์จะดำเนินคดีทางศาลในกรณีเดียวกันนั้นไม่ได้ แต่คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกยาสีฟัน และได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าปิดไว้ในสินค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้า คำว่า AQUAFRESH ซึ่งอ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า แอควาเฟรช นี้เป็นของโจทก์และโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และต่อมาโจทก์ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนไม่รับจดให้ อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทของจำเลย เห็นได้ว่า กรณีที่โต้เถียงกันในชั้นการพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ซึ่งในปัญหานี้ เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์จะนำเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ตามสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 มาตรา 41 (1) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 22 วรรคสี่ (1)
สำหรับในปัญหาที่ว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากันนั้น ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย เห็นสมควรให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่โดยวินิจฉัยประเด็นที่ว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่ากันค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share