คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5310/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำแผ่นวีเนียร์ที่ได้จากการเฉือนไม้ซุงสักออกเป็นแผ่นบาง ๆ มาวางปิดทับบนไม้อัดยางที่โจทก์ซื้อมา แล้วประสานจนเป็นเนื้อเดียวกันเป็นไม้อัดสักนับว่าเป็นการประกอบสินค้าชนิดใหม่ขึ้น จึงเป็นการผลิตตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77
สินค้าตามบัญชีที่1 หมวด 4(1) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ.2517 เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าตามบัญชีที่ 3 หมวด 3(2) ซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูป เมื่อไม้อัดเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่ระบุในหมวด 4(1) ของบัญชีที่ 1 ไม้อัดจึงเป็นวัตถุดิบ ไม้อัดสักของโจทก์โดยสภาพมิใช่สินค้าสำเร็จรูปและยังเป็นไม้อัดอย่างหนึ่ง จึงเป็นวัตถุดิบและเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1 หมวด 4(1) โจทก์ซึ่งเป็นผู้ผลิตและมิได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรจึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 9 ของรายรับ มิใช่ร้อยละ 1.5 ของรายรับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตไม้อัดสักออกจำหน่ายควรจะเสียภาษีการค้าร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ ไม่ใช่ร้อยละ ๙ ตามที่จำเลยประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมิน
จำเลยให้การว่าการประเมินชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์นำไม้ซุงสักมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วนำมาต้ม จากนั้นนำมาเฉือนให้เป็นแผ่นบาง เรียกว่า แผ่นวีเนียร์ แล้วนำไม้แผ่นบางนั้นอัดทับลงบนไม้อัดยางที่โจทก์ซื้อมา โดยใช้กาวเป็นตัวเชื่อมประสานและนำเข้าเครื่องอัดเย็นอัดร้อนก็จะได้ไม้อัดสักหรือไม้อัดลายไม้สัก มีปัญหาว่า ไม้อัดสักดังกล่าวโจทก์ได้มาเนื่องมาจากการผลิตหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้วประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗ ให้ความหมายของคำว่า “ผลิต” ไว้ว่าหมายถึงทำการเกษตร หรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบ แปรรูป แปรสภาพสินค้า หรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เห็นว่าการที่โจทก์นำแผ่นวีเนียร์ที่ได้จากการเฉือนไม้สักออกเป็นแผ่นบาง ๆ นำไปปิดทับลงบนไม้อัดยาง ประสานเป็นเนื้อเดียวกัน จนเป็นไม้อัดสักนับว่าเป็นการประกอบสินค้าชนิดใหม่ขึ้นมาจึงเป็นการผลิตตามความหมายที่ประมวลรัษฎากรให้คำจำกัดความไว้ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตัวไม้อัดสักยังคงเป็นแผ่นไม้อัดยางไม่มีการตัดหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงทั้งขนาดหรือสัดส่วนยังคงอยู่ในสภาพเดิมไม่เข้าลักษณะการผลิตนั้น เห็นว่าการผลิตตามคำจำกัดความที่กล่าวแล้วไม่ได้อยู่ที่รูปทรง ขนาด หรือสัดส่วนของสินค้าแต่ประการใด เมื่อไม้อัดสักเป็นสินค้าที่ประกอบขึ้นมาใหม่แม้จะมีรูปทรง ขนาดหรือสัดส่วนเป็นอย่างเดียวกันกับไม้อัดยางที่นำมาประกอบก็หาทำให้ไม้อัดสักเป็นสินค้าที่โจทก์ไม่ได้ผลิตขึ้นมาดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
คดีมีปัญหาต่อไปว่า โจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับไม้อัดสักที่โจทก์ผลิตในอัตราร้อยละ ๑.๕ ของรายรับ เพราะเข้าลักษณะสินค้าตามหมวด ๓(๒) ของบัญชีที่ ๓ ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ.๒๕๑๗ หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิเคราะห์แล้ว บัญชีที่ ๓ หมวด ๓ วัสดุก่อสร้างและเครื่องเรือน (๒) บัญญัติว่า “กระเบื้องกระดาษ กระเบื้อง ซีเมนต์ ท่อซีเมนต์ หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ เฉพาะที่ผลิตจากสินค้าตามหมวด ๔(๑)
ของบัญชีที่ ๑ ที่ผู้ผลิตมิใช่เป็นผู้ผลิตสินค้าตามหมวด ๔(๑) ของบัญชีที่ ๑ เฉพาะที่ผลิตในราชอาณาจักร” ดังนี้แสดงว่า สินค้าตามบัญชีที่ ๑ หมวด ๔(๑) เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้า ตามบัญชีที่ ๓ หมวด ๓(๒) ซึ่งเป็นสินค้าสำเร็จรูป เมื่อไม้อัดเป็นสินค้าอย่างหนึ่งของสินค้าในหมวด ๔(๑) ของบัญชีที่ ๑ ไม้อัดจึงเป็นวัตถุดิบ ฉะนั้นไม้อัดสักของโจทก์ซึ่งโดยสภาพมิใช่สินค้าสำเร็จรูป และเป็นไม้อัดอย่างหนึ่งจึงเป็นวัตถุดิบและเป็นสินค้าตามบัญชีที่ ๑ หมวด ๔(๑) ด้วย ไม้อัดสักที่โจทก์ผลิตจึงไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูปตามบัญชีที่ ๓ หมวด ๓(๒) โจทก์ในฐานะผู้ผลิตและมิได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรจึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๙ ของรายรับ มิใช่ร้อยละ ๑.๕ ของรายรับดังที่โจทก์อุทธรณ์
พิพากษายืน

Share