แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยใช้ไม้ตี แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยใช้เหล็กแป๊บตีโจทก์ ผลก็คือโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นการแตกต่างกันมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่และมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้ แม้การพิจารณาและสืบพยานในคดีก่อน มิได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172และจำเลยที่ 4 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวก็ตามศาลก็สามารถนำพยานหลักฐานในคดีก่อนมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้อาวุธฟัน ตี โจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 3 ใช้ขวานฟันโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 4 ใช้ไม้ทุบตีโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 จับโจทก์ที่ 2 ไว้ และจำเลยที่ 2ได้บอกจำเลยอื่นให้ฟันและตีโจทก์ทั้งสองให้ตาย ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสี่มีเจตนาฆ่าโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสี่ได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากโจทก์ทั้งสองปัดป้องถอยหนีได้ทัน จึงไม่ถึงแก่ความตายเพียงแต่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 288
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีโจทก์มีมูลในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 288เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 1022/2534 ของศาลชั้นต้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3จึงเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 2และที่ 3 ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 หลบหนี อยู่ระหว่างออกหมายจับ ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวสำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 297(8) ลงโทษจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ขณะโจทก์ทั้งสองและนายชวัด สอาดโอษฐ์ สามีโจทก์ที่ 1 กำลังช่วยกันจัดตุ๊กตาที่นำมาขายอยู่ท้ายรถยนต์กระบะบริเวณที่เกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 3ได้วิ่งเข้าไปใช้ขวานฟันโจทก์ทั้งสอง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือนตามคดีหมายเลขแดงที่ 1022/2534 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดไปแล้วคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4ได้ร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสหรือไม่ โจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ทั้งสองและนายชวัดเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4ได้ร่วมกระทำผิดโดยใช้เหล็กแป๊บตีทำร้ายโจทก์ทั้งสองหลายครั้งศาลฎีกาเห็นว่า มูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2532 ทั้งสองฝ่ายมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันจนกระทั่งพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับทั้งสองฝ่ายแล้วฝ่ายจำเลยกล่าวอาฆาตฝ่ายโจทก์จนถึงขนาดมีการแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงเกิดเหตุคดีนี้ ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันโจทก์ทั้งสองและพยานโจทก์ต่างรู้จักจำเลยที่ 4 มาก่อน ค้าขายอยู่บริเวณเดียวกันมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อน ภายหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อย เมื่อโจทก์ที่ 1 นำความไปแจ้งต่อพันตำรวจโทกิจ พงศ์ทิพย์มนัส พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ ก็ระบุว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำผิดโดยใช้ไม้ตีโจทก์ทั้งสอง ตามรายงานประจำวันธุรการเอกสารหมาย จ.3 (ป.จ.3)ทั้งแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ตามเอกสารหมาย ป.จ.1ก็ระบุจุดที่จำเลยที่ 4 เดินเข้ามาในที่เกิดเหตุ ซึ่งโจทก์มีพันตำรวจโทกิจพนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 อยู่ในที่เกิดเหตุที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ไม่มีบุคคลอื่นมาเบิกความเป็นพยานคงมีแต่โจทก์ทั้งสองและนายชวัดซึ่งเป็นญาติกันจึงเป็นพิรุธและปรักปรำจำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่าไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความของพยานที่เป็นญาติกันหากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชอบด้วยเหตุผลพอให้รับฟังได้ว่าเป็นความจริง ศาลก็มีอำนาจรับฟังคำเบิกความของพยานดังกล่าวนั้นได้ สำหรับคดีนี้พยานโจทก์ต่างเบิกความลำดับเหตุการณ์มีรายละเอียดสอดคล้องต้องกันชอบด้วยเหตุผลจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง แม้จำเลยที่ 4 จะอ้างว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 3เป็นผู้ทำร้ายโจทก์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ส่วนข้อที่จำเลยที่ 4 อ้างมาในฎีกาว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความแตกต่างกันและขัดแย้งกับเอกสารเกี่ยวกับอาวุธที่จำเลยที่ 4 ใช้ทำร้ายโจทก์ทั้งสอง ส่วนของร่างกายที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากการถูกทำร้ายตลอดจนบาดแผลที่นายแพทย์ผู้ตรวจเบิกความซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า เป็นข้อแตกต่างในพลความหรือรายละเอียด มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญถึงขนาดจะทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทบัญญัติขยายคำว่าข้อสาระสำคัญในวรรคสองของบทกฎหมายดังกล่าวให้เป็นที่เข้าใจว่าหากข้อแตกต่างเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดถือว่าแตกต่างในข้อสาระสำคัญ แต่ถ้าแตกต่างกันเพียงรายละเอียดที่จะต้องกล่าวในคำฟ้องให้ถือว่าแตกต่างกันมิใช่ข้อสาระสำคัญสำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องทำร้ายร่างกายนั้นก็คือ การทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้นการที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ใช้ไม้ตีแต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 4 ใช้เหล็กแป๊บตีโจทก์ทั้งสอง ผลก็คือโจทก์ทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นการแตกต่างกันมิใช่ข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 4 ให้การต่อสู้คดีอ้างฐานที่อยู่และมิได้หลงข้อต่อสู้แต่ประการใด ที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างมาในฎีกาอีกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ในเรื่องเดียวกันนี้พนักงานอัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 4ได้ร่วมกระทำความผิดโดยใช้เหล็กแป๊บตีทำร้ายโจทก์ทั้งสองจำเลยที่ 4 มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกระทำความผิด เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้การพิจารณาและสืบพยานในคดีก่อนมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 และจำเลยที่ 4 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวก็ตามแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หาขัดต่อกฎหมายและทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ในฐานความผิดดังกล่าวและไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 4 เหมาะสมแก่รูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน