คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1349-1351/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ฟ้องได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้อง และโจทก์ได้วางเงินประกันค่าเสียหายตามคำสั่งศาลแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์ฎีกาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางประกันค่าเสียหายมาชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา โดยสั่งไว้ด้วยอีกว่าให้เบิกมาปิดฤชากรในคำฟ้องฎีกาได้เมื่อคำสั่งนี้ถึงที่สุดแล้ว และจะสั่งฎีกาของโจทก์ต่อไป เห็นได้ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งรับฎีกาของโจทก์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นกระทำไปในชั้นดำเนินการแทนศาลฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของศาลฎีกา แต่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นเองโดยตรง คำสั่งดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุด คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาย่อมเป็นอันยกเลิกไปในตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 โจทก์ขอรับเงินที่วางประกันค่าเสียหายคืน จำเลยขอให้ยึดเงินนี้ไว้แต่ตกลงกันได้ว่าให้โจทก์ถอนเงินเพียงเท่าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ส่วนที่เหลือจำเลยอายัดไว้ เงินส่วนที่เหลือนี้เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้เพื่อบังคับคดีแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินจำนวนนี้ไปเพื่อชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา จึงเป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับการบังคับคดี คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(2) หรือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตาม มาตรา 226

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษา โดยเรียกบริษัทสหสุราอุดร จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่ ๑ และที่ ๒ กับจำเลยในสำนวนที่ ๓ ว่าโจทก์ เรียกกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ในสำนวนที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ในสำนวนที่ ๒ กับโจทก์ที่ ๒ ในสำนวนที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๑ เรียกจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ในสำนวนที่ ๑ ว่าจำเลยที่ ๒ เรียกนายบุญเจียม โรจนวิศิษฏ์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๓ ในสำนวนที่ ๑ และที่ ๒ ว่าจำเลยที่ ๓ เรียกกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ ในสำนวนที่ ๒ และโจทก์ที่ ๑ ในสำนวนที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๔
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องสำนวนที่ ๑ นั้น ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เข้ายึดครองทรัพย์สินในโรงงานสุราพิพาท ห้ามทำการประมูลผู้รับทำการทำและขายส่งสุราขาวผสม ในโรงงานสุราพิพาท ห้ามเรียกคืนใบอนุญาตทำสุราจากโจทก์ และให้ต่อใบอนุญาตทำสุราแก่โจทก์ตามกฎหมายและประกอบกิจการสุราได้ต่อไปตามปกติ โดยสั่งให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน ๑ ล้านบาทซึ่งโจทก์ได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนที่ ๑ และที่ ๒ และพิพากษาบังคับตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ ในสำนวนที่ ๑ ให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกไปจากโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต จังหวัดอุดรธานี ให้ส่งมอบโรงงานดังกล่าวในสภาพที่ปราศจากการชำรุดบกพร่อง ห้ามโจทก์นำทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งตกเป็นของจำเลยตามสัญญาออกไปจากโรงงาน ส่วนสำนวนที่ ๓ ให้โจทก์ (คือจำเลยในสำนวนที่ ๓) ชำระค่าปรับแก่จำเลยที่ ๑ (คือโจทก์ที่ ๒ ในสำนวนที่ ๓) และค่าสินไหมทดแทนประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ และเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ กับเดือนต่อ ๆ ไปจนกว่าโจทก์จะส่งมอบโรงงานสุราให้จำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ สำหรับเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ เป็นเงิน ๕ ล้านบาท ส่วนเดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ และเดือนต่อ ๆ ไป จนถึงวันส่งมอบโรงงานคืนให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น ให้โจทก์ชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ไม่เกินเดือนละ ๕ ล้านบาท
โจทก์ฎีกาทั้งสามสำนวน พร้อมกับยื่นคำร้องขอถอนเงินที่วางประกันความเสียหายไว้ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเพื่อนำมาเสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยอนุญาตให้ถอนเพียงเท่าจำนวนที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา และให้นำมาซื้อฤชากรปิดในฟ้องฎีกาด้วย
จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินประกันความเสียหายไปนั้นเป็นการไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลเพื่อเป็นประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงตามท้องสำนวนฟ้องได้เป็นยุติว่า เมื่อโจทก์ในสำนวนที่ ๑ ยื่นฟ้องนั้น ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เข้ายึดครองทรัพย์สินในโรงงานสุราพิพาท ห้ามจำเลยเรียกคืนใบอนุญาตทำสุราจากโจทก์ และให้จำเลยต่อใบอนุญาตทำสุราแก่โจทก์ตามกฎหมาย โดยให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหายจำนวนหนึ่งล้านบาทซึ่งโจทก์ได้วางเงินจำนวนดังกล่าวไว้แล้ว ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเป็นครั้งที่สองให้โจทก์แพ้คดี โดยให้ขับไล่โจทก์และบริวารออกจากโรงงานสุราพิพาท และให้ชำระค่าปรับสำหรับเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม และตั้งแต่วันที่ ๑ ถึง ๑๔ มิถุนายน ๒๕๑๙ กับค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ และเดือนต่อ ๆ ไปตามที่กำหนดเงื่อนไขไว้ในคำพิพากษา จนกว่าจะส่งมอบโรงงานให้แก่จำเลยที่ ๑ โจทก์ในสำนวนที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยในสำนวนที่ ๓ ได้ยื่นฟ้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถา และแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์มีเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทซึ่งวางศาลไว้เพื่อประกันความเสียหายในกรณีที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ถ้าหากศาลอนุญาตให้ถอนเงินดังกล่าวเท่าจำนวนค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องเสียในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ก็ไม่ติดใจอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ต่อมากรมสรรพสามิต กับพวก จำเลย ยื่นคำร้องว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยึดเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทที่วางประกันความเสียหายนั้นด้วย ในที่สุดโจทก์จำเลยตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓ ให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลได้เพียงเท่าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ส่วนที่เหลือให้ถือว่าจำเลยอายัดไว้ที่ศาลต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลนั้นบางส่วนเท่าจำนวนที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์จำนวน ๔๐๐,๔๒๐ บาท ยังคงเหลืออยู่อีก ๕๙๙,๕๘๐ บาท ครั้นต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาครั้งที่สองแล้ว โจทก์ได้ยื่นฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอถอนเงินประกันที่วางไว้ในชั้นคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาซึ่งยังเหลืออยู่อีก ๕๙๙,๕๘๐ บาทเพื่อนำมาเสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา หากศาลไม่อนุญาตให้ถอนเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ก็ขออนุญาตยื่นฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถา แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลชั้นต้นจึงถือว่าโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา และมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกามาชำระภายใน ๒๐ วัน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอถอนเงินที่วางประกันความเสียหายไว้นั้น เพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา ซึ่งกรมสรรพสามิตกับพวก จำเลย ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องขอถอนเงินดังกล่าวของโจทก์ ศาลชั้นต้นให้จำเลยตรวจสอบจำนวนค่าเสียหายในการที่โจทก์ขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวและแจ้งจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวให้ศาลทราบภายใน ๒๐ วัน ซึ่งจำเลยก็ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นแจ้งจำนวนค่าเสียหาย นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาครั้งแรก เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๔,๗๖๙,๕๑๙ บาท ๓๖ สตางค์ และแถลงคัดค้านด้วยว่าที่โจทก์ขอถอนเงินวางประกันโดยคดียังไม่ถึงที่สุดและเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้สั่งอายัดไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอถอน ขอให้ยกคำร้องของโจทก์เสีย ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลได้เพียงเท่าจำนวนที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางประกันค่าเสียหายในสำนวนคดีนี้มาชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งแทนศาลฎีกา จึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งของศาลฎีกา คำสั่งนั้นจึงถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ หากคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ถือว่าเป็นคำสั่งของศาลฎีกาก็ชอบที่จะร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาหรือโต้แย้งคัดค้านเมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ประเด็นข้อนี้จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะรับวินิจฉัย หาใช่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะวินิจฉัยไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาครั้งที่สองแล้ว โจทก์ได้ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๓ พร้อมกับยื่นคำร้องขอถอนเงินหรือขอฎีกาอย่างคนอนาถาในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องนั้นว่า สำเนาให้จำเลยนัดพร้อมก่อน และสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า รอไว้สั่งเมื่อไต่สวนอนาถาแล้ว ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางประกันค่าเสียหายมาชำระเป็นค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ศาลชั้นต้นก็ได้สั่งไว้ด้วยอีกว่า ให้เบิกมาปิดฤชากรในคำฟ้องฎีกาได้เมื่อคำสั่งนี้ถึงที่สุดแล้ว และจะสั่งฎีกาของโจทก์ต่อไป เช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งรับฎีกาของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินประกันค่าเสียหายเพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นกระทำไปในชั้นดำเนินการแทนศาลฎีกาแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของศาลฎีกา แต่เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นเองโดยตรง คำสั่งดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุด คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้วินิจฉัยจึงชอบแล้ว
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนเงินวางประกันมาชำระค่าธรรมเนียมศาล หาใช่เป็นกรณีคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณาไม่ เพราะการที่ศาลสั่งให้โจทก์นำเงินมาวางศาลในชั้นคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลก็ได้สั่งไปแล้ว การสั่งให้นำเงินมาวางศาลครั้งก่อนเป็นการสั่งคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณา ซึ่งถ้าคู่ความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้นจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ แต่การที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนเงินมาชำระเป็นค่าธรรมเนียมศาล หาใช่เป็นคำสั่งที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗(๒) ไม่ (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา ๒๒๘) คู่ความจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ได้ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งนี้จึงไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ย่อมเป็นอันยกเลิกไปในตัวตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๐ โจทก์ชอบที่จะรับเงินที่วางประกันค่าสินไหมทดแทนคืนไปได้ แต่ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓ ขอให้ศาลมีคำสั่งยึดเงินที่โจทก์วางประกันค่าสินไหมทดแทนจำนวนหนึ่งล้านบาทรายนี้ไว้ และในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ก็ยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนนี้คืน ศาลชั้นต้นสอบคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ตกลงกันว่าให้โจทก์ถอนเงินวางศาลดังกล่าวเพียงเท่าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ส่วนที่เหลือให้ถือว่าจำเลยอายัดไว้ที่ศาลต่อไป ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลเพียงเท่าจำนวนที่ต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓ ต่อมาเมื่อโจทก์ขอถอนเงินส่วนหนึ่งของเงินที่เหลืออยู่คือ ๕๙๙,๕๘๐ บาท ซึ่งศาลได้สั่งอายัดเงินจำนวนนี้ไว้แล้ว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนเงินจำนวนนี้ไป จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะศาลไม่มีอำนาจที่จะสั่งเช่นนั้นได้เนื่องจากเงินจำนวนนี้เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้เพื่อบังคับคดีแล้ว กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี เมื่อศาลมีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับเงินจำนวนนี้ ย่อมเป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับการบังคับคดีคู่ความจึงมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณา ซึ่งจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘(๒) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา
โจทก์ฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนเงินดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา กล่าวคือคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คดียังไม่ถึงที่สุด เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษาชี้ขาด เมื่อมีคำสั่งในระหว่างนั้น จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ นั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว เป็นคำสั่งอันเกี่ยวกับการบังคับคดี ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาดังที่โจทก์ฎีกา
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนเงินที่วางศาลเพื่อเป็นประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทนซึ่งศาลชั้นต้นสั่งอายัดไว้นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share