แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายตรงกันเพียงว่า โจทก์ประสงค์จะได้ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โจทก์เชื่อตามที่จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 สามารถช่วยเหลือได้เพราะจำเลยที่ 2 สนิทสนมกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งสนิทสนมกับพลเอก ว. ซึ่งเป็นคณะปฏิรูปการปกครองในขณะนั้นซึ่งต้องใช้เงินเป็นค่าประสานงาน 10,000,000 บาท โจทก์ต่อรองเหลือ 7,500,000 บาท และโจทก์จ่ายเงินให้จำเลยทั้งสองไปเป็นเงิน 2,500,000 บาท เพื่อให้โจทก์ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรตำแหน่งดังกล่าวให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการใช้ให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อจำเลยที่ 1 กับพวก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้จำคุก 2 ปี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่มีสิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฉ้อโกงโจทก์หรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นนี้จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ได้รับเงินคืนไปแล้วบางส่วน ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและอายุมากแล้ว เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันฉ้อโกงเงินของโจทก์ไปเป็นจำนวนมากถึง 2,500,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าพวกของจำเลยที่ 1 ได้แบ่งเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด ทั้งโจทก์ก็ได้รับเงินคืนจากพวกของจำเลยที่ 1 บางส่วน จึงเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มานั้นหนักเกินไป เห็นสมควรกำหนดใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขวนขวายที่จะคืนเงินเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่ทราบว่าโจทก์เพิ่งได้รับเงินคืนจากพวกของจำเลยที่ 1 เพียง 90,000 บาท เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 นำการร้องทุกข์ของโจทก์ในเหตุคดีนี้ไปฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จเพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาตามสำเนาคำพิพากษาอีกด้วย จึงเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1