คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คณะกรรมการควบคุมการเช่านาฯ กำหนดอัตราค่าเช่านาเกินกว่าที่เคยเก็บอยู่ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติใช้บังคับไม่ได้ คือเกินไร่ละ 10 ถังตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติฉบับก่อนที่ถูกพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยกเลิกไปไม่ได้
ผู้เช่านาทำนาปรังนอกฤดูทำนาปกติ คณะกรรมการควบคุมการเช่านากำหนดให้ผู้ให้เช่าเก็บค่าเช่าอีกได้ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 17, 20

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนกำหนดอัตราค่าเช่านาที่กำหนดโดยมิชอบ ให้กำหนดอัตราค่าเช่านาครั้งแรกและครั้งที่สองใหม่ โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยากำหนดอัตราค่าเช่านาสูงกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ได้หรือไม่และขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 11(4) หรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 11(4) บัญญัติว่า “ไม่ว่ากรณีใด ๆ จะคิดอัตราค่าเช่านาเกินกว่าที่เคยเก็บอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมิได้” เห็นว่าอัตราค่าเช่านาที่เคยเก็บอยู่ก่อน คืออัตราค่าเช่านาไม่เกินไร่ละสิบถังตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 มาตรา 5(1) ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนถูกยกเลิกนั้นจะถือหลักเกณฑ์ในการคำนวณอย่างไรก็ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดดังนั้นการที่คณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยากำหนดอัตราค่าเช่านาขั้นสูงเกินกว่าไร่ละสิบถังจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนปัญหาที่ว่าคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยาให้ผู้ให้เช่าเก็บค่าเช่านาสำหรับการทำนาปรังเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 17 และมาตรา 20 หรือไม่นั้น พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 17 เพียงบัญญัติถึงการเรียกเก็บค่าเช่านา จะเก็บเป็นรายปีหรือเมื่อเสร็จฤดูการทำนา จะเก็บเป็นผลผลิตหรือเป็นเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นเท่านั้น การเก็บค่าเช่านาสำหรับคดีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับการทำนาปรัง ผู้ให้เช่าจะเก็บค่าเช่านาในการที่ผู้เช่านาปรังได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 20 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือพืชไร่ประจำปีในนาที่เช่าได้ รวมทั้งการใช้ที่นาบางส่วนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการปลูกไม้ยืนต้น ในเมื่อไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกข้าวหรือพืชไร่

ผู้ให้เช่านาจะเรียกเก็บค่าเช่านาเพิ่มเพราะเหตุที่ผู้เช่านาใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งมิได้”

ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า พืชอายุสั้นและพืชไร่มิได้หมายความถึงข้าว การทำนาปรังเป็นการเพาะปลูกข้าวนอกฤดูการทำนา เมื่อโจทก์ทำนาปรังในนาพิพาท ก็ต้องชำระค่าเช่า การที่คณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอสรรพยาให้ผู้ให้เช่าเก็บค่าเช่าสำหรับการทำนาปรังไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 17 และมาตรา 20 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 261/2522 คดีระหว่างนายเทียม เกิดศรี โจทก์ นางทรัพย์ แก้วเนตร จำเลย”

พิพากษายืน

Share