แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายถูกคนร้ายทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเป็นกรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ถ้าผู้เสียหายจะเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเองโดยมีการพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในใบแต่งทนายความ แม้จะมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือด้วยตนเอง เนื่องจากผู้เสียหายไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ จึงมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เป็นการไม่ถูกต้อง ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่มีสิทธิฎีกา และแม้กรณีเช่นว่านั้นสามารถที่จะแก้ไขความบกพร่องได้ แต่คดีล่วงเลยมานานมากแล้ว ทั้งการพิจารณาคดีก่อนหน้านั้นของโจทก์ร่วมมิได้เสียไป ประกอบกับพนักงานอัยการก็ว่าคดีต่างโจทก์ร่วมอยู่แล้ว จึงเห็นควรไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งผู้เสียหายแก้ไขข้อบกพร่องในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการให้บริบูรณ์ใหม่เสียก่อน และสมควรพิจารณาคดีต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 297
ระหว่างพิจารณา นายอดิศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสามจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างที่ง่ายต่อการเสริมแต่งขึ้นภายหลัง ตรงกันข้ามลักษณะการเดินทางไปทำร้ายคนอื่นตามที่กล่าวอ้างที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 ขับและนั่งซ้อนท้ายไปกับพวก กลับเหมือนลักษณะที่คนร้ายทั้งสามคนเดินทางไปยังบริเวณที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้เสียหายตามที่นายณรงค์เบิกความนั่นเอง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองขาดไร้ซึ่งเหตุผล ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสามจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพ และทางนำสืบของจำเลยทั้งสองให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และยกฎีกาของนายอดิศักดิ์