คำวินิจฉัยที่ 41/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ตายายของผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ โดยนำที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๗๔ ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้อายัดที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ ไว้ เมื่อยายของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลที่ดินที่ถูกอายัดและให้ตาของผู้ฟ้องคดีไปถอนชื่อยายของผู้ฟ้องคดีออกจากใบไต่สวน หลังจากนั้นมารดาของผู้ฟ้องคดีทราบภายหลังว่าเป็นการหลอกลวงให้ลงลายมือชื่อในหนังสือยกที่ดินให้กระทรวงการคลัง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินพิพาททั้ง ๓ แปลง ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๕ เลขที่ ๗๔ และเลขที่ ๓๑๐๐ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บังคับให้มารดาของผู้ฟ้องคดีชำระค่าเช่าที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อมารดาของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แต่กลับมีหนังสือแจ้งว่า ไม่อาจยกเลิกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงได้ เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินตามใบไต่สวนทั้งสามแปลงเป็นที่ดินราชพัสดุ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การออกโฉนดที่ดินนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๑/๒๕๕๗

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ นายองอาจ ประเสริฐแสง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๖๗/๒๕๕๓ ความว่า บรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดีได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณคลองมหานาค (ฝั่งใต้) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โต๊ะเซ็นและนางเนาะ ตายายของผู้ฟ้องคดีได้ปลูกบ้านและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ เมื่อปี ๒๔๕๑ ทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ นางเนาะได้นำที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๗๔ ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้อายัดที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ ไว้ เมื่อนางเนาะถึงแก่ความตาย กระทรวงกลาโหมได้มอบที่ดินของนางเนาะและรายอื่นๆ ที่ถูกอายัดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ดินที่ถูกอายัดเป็นที่ดินพระราชทาน จึงแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาขายที่ดินให้แก่เจ้าของเดิมโดยมีเงื่อนไขว่า เจ้าของที่ดินจะต้องถอนชื่อของตนออกจากใบไต่สวน เพื่อกระทรวงการคลังจะขอออกโฉนดในนามของกระทรวงการคลังแล้วขายให้แก่เจ้าของเดิม ต่อมาเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำโต๊ะเซ็นไปถอนชื่อนางเนาะออกจากใบไต่สวน หลังจากนั้นนางชม มารดาของผู้ฟ้องคดีได้ทราบภายหลังว่าโต๊ะเซ็นถูกหลอกลวงให้ลงลายมือชื่อในหนังสือยกที่ดินให้กระทรวงการคลัง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดิน ๓ แปลงของโต๊ะเซ็นและนางเนาะให้แก่กระทรวงการคลัง ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๕ เลขที่ ๗๔ และเลขที่ ๓๑๐๐ เมื่อปี ๒๕๑๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บังคับให้นางชมเสียเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อนางชมถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ไม่อาจยกเลิกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงตามที่ผู้ฟ้องคดีขอ เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ เป็นที่หลวงมาแต่เดิม การใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีตามใบไต่สวนที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินทั้ง ๓ แปลง แต่เดิมเป็นที่หลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติโดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การพิจารณาเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน เป็นอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ไม่ดำเนินการคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการปกครอง การดูแลที่ราชพัสดุตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้อายัดที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ ไว้ ทำให้นางเนาะไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อนางเนาะถึงแก่กรรม นางชมซึ่งเป็นบุตรของนางเนาะและเป็นมารดาของผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินมาโดยตลอด ต่อมา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังได้นำโต๊ะเซ็นไปลงลายมือชื่อเพื่อถอนชื่อนางเนาะออกจากใบไต่สวน และภายหลังจึงทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อยกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๗๔ ของนางเนาะและที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ ของโต๊ะเซ็นไปออกโฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๕ และเลขที่ ๓๑๐๐ ให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อบรรพบุรุษของผู้ฟ้องคดี และเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีเจตนากลั่นแกล้ง รวมทั้งการให้นางชมไปทำสัญญาเช่าที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากเดิมที่ดินเป็นของนางเนาะ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕ เลขที่ ๗๔ และเลขที่ ๓๑๐๐ ที่ออกไว้ให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งว่า ไม่อาจดำเนินการให้ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยังไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งยังแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าไม่สามารถคืนที่ดินทั้งสามแปลงให้ผู้ฟ้องคดีได้ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งได้ครอบครองที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินทั้งสามแปลงแก่ผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเพียงหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง การดูแลรักษาที่ราชพัสดุ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ทรงสิทธิหรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท ข้อพิพาทในทำนองนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป อีกทั้งมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ฟ้องคดีมีวัตถุประสงค์หรือความต้องการเรียกร้องที่ดินทั้งสามแปลงตามฟ้องมาเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี แม้ผู้ฟ้องคดีจะอ้างด้วยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการเกี่ยวกับที่ดินโดยมิชอบ แต่ก็เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโต๊ะเซ็นและนางเนาะ ตายายของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ยังโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีอ้าง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญและเป็นข้อโต้แย้งโดยตรงของคู่ความในคดีนี้ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นข้ออื่นต่อไป จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ตายายของผู้ฟ้องคดีได้ปลูกบ้านและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๒๖ เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ โดยนำที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๗๔ ไปขอออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมได้อายัดที่ดินตามใบไต่สวน เลขที่ ๕๒ และเลขที่ ๗๔ ไว้ เมื่อยายของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย กระทรวงการคลังเข้ามาดูแลที่ดินที่ถูกอายัดและให้ตาของผู้ฟ้องคดีไปถอนชื่อยายของผู้ฟ้องคดีออกจากใบไต่สวน หลังจากนั้นมารดาของผู้ฟ้องคดีทราบภายหลังว่าเป็นการหลอกลวงให้ลงลายมือชื่อในหนังสือยกที่ดินให้กระทรวงการคลัง เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกโฉนดที่ดินพิพาททั้ง ๓ แปลง ให้แก่กระทรวงการคลัง ตามโฉนดที่ดิน เลขที่ ๕๕ เลขที่ ๗๔ และเลขที่ ๓๑๐๐ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้บังคับให้มารดาของผู้ฟ้องคดีชำระค่าเช่าที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อมารดาของผู้ฟ้องคดีถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แต่กลับมีหนังสือแจ้งว่า ไม่อาจยกเลิกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงได้ เพราะเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การใช้สิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีตามใบไต่สวนที่ดินทั้งสามแปลงเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติโดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องคดีนี้โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี การที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายองอาจ ประเสริฐแสง ผู้ฟ้องคดี กรมธนารักษ์ ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share