คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13579/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 เห็นชอบในการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจโดยแบ่งรัฐวิสาหกิจออกเป็น 3 กลุ่ม จำเลยอยู่ในกลุ่มที่ 3 คือรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 2) ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2537 การปรับอัตราค่าจ้างให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป วันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือระบุว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป วันที่ 1 ธันวาคม 2547 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยออกคำสั่งปรับเงินเดือนพนักงานและลูกจ้างตามข้อบังคับดังกล่าว
ข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 ข้อ 2 ระบุว่า “ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับนี้แทน” และบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ระบุว่าเป็น “บัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างประจำองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย” หมายความว่าผู้ที่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่) ต้องเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ข้อบังคับและบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าวประกาศใช้ ส่วนที่มีข้อความระบุในข้อ 3 ว่า “ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป” นั้น มีความหมายว่าผู้ที่ยังคงเป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลยได้รับตัวเงินตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่นับย้อนไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ไม่มีข้อความให้จำเลยจ่ายเงินเดือนในอัตราตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้วย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ด้วย
โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ไม่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 (บัญชีอัตราเงินเดือนเดิม) นับแต่วันพ้นจากการเป็นพนักงาน จึงไม่ใช่พนักงานผู้ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 (บัญชีอัตราเงินเดือนเดิม) ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 แล้ว ไม่ใช่ผู้เป็นพนักงานของจำเลย ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่บัญชีอัตราเงินเดือนเดิมถูกยกเลิกไปตามข้อบังคับว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง 31,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยมีคำสั่งพิจารณาขึ้นเงินเดือนความดีความชอบประจำปี 2547 – 2548 ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างที่จำเลยได้ปรับขึ้นให้แก่พนักงานของจำเลยตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการปรับขึ้นค่าจ้างแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่จำเลยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้โจทก์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้ปรับค่าจ้างในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตรา และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่มร้อยละ 3 ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 แต่จำเลยไม่ปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย อุทธรณ์โจทก์ประการนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ประการสุดท้ายว่าเลยจะต้องปรับเงินเพิ่มและจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์จะได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 แต่เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับค่าจ้างตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 ย้อนหลังไปให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ยังมีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับการปรับเงินเพิ่มและจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวเนื่องจากกระทรวงแรงงานมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ รง 0509/2797 ลงวันที่ 16 กันยายน 2547 เรื่อง การปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการเสนออนุมัติปรับอัตราค่าจ้างนี้ได้อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 ที่เห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตรา ให้ข้าราชการระดับ 1 ถึง 7 หรือเทียบเท่าได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่มร้อยละ 3 ตามบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่อีก 2 ขั้น โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 และสำนักงบประมาณมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ 0710/592 ลงวันที่ 20 กันยายน 2547 เรื่อง การปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้เห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้ตามบทบัญญัติในมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมาย ระบบราชการและการประชาสัมพันธ์) ที่มีมติข้อ 2.1 ว่าเห็นควรให้ความเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 2) ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2537 (กลุ่มที่ 3) โดยให้ปรับอัตราค่าจ้างในอัตราร้อยละ 3 เท่ากันทุกอัตรา (ยกเว้นตำแหน่งผู้ว่าการหรือผู้อำนวยการซึ่งใช้สัญญาจ้าง) และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่ปรับเพิ่มร้อยละ 3 ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้น เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการฝ่ายหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ เอง มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงมีผลในการอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจแต่ละรายดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างของลูกจ้างได้ตามอัตราค่าจ้างและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาด พ.ศ.2496 ซึ่งตามมาตรา 19 บัญญัติให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย และควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์กรและมีอำนาจที่จะวางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน กำหนดอัตราเงินเดือนและค่าจ้าง และเงินบำเหน็จและรางวัลของพนักงาน ต่อมาเมื่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวตามหนังสือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ รง 0509/ว 09299 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ว่าจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดอยู่ในกลุ่ม 3 ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการองค์การตลาดจึงได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 อนุมัติให้จำเลยดำเนินการปรับเงินเดือนพนักงานและลูกจ้างของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และเห็นชอบร่างข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยจึงออกข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 ข้อ 2 ระบุว่า “ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหาร งาน พ.ศ.2544 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับนี้แทน” และบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ระบุว่าเป็น “บัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างประจำองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย” หมายความว่าผู้ที่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายข้อบังคับฉบับนี้ (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่) ต้องเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ข้อบังคับและบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าวประกาศใช้ ส่วนที่มีข้อความระบุในข้อ 3 ว่า “ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป” นั้น มีความหมายว่าผู้ที่ยังคงเป็นพนักงานและลูกจ้างของจำเลยได้รับตัวเงินตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่นับย้อนไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 อีกทั้งไม่มีข้อความให้จำเลยจ่ายเงินเดือนในอัตราตามบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานของจำเลยแล้วย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 เมษายน 2547 ด้วย ดังนั้นโจทก์ซึ่งพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ 1 ธันวาคม 2547 ไม่ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 (บัญชีอัตราเงินเดือนเดิม) นับแต่วันพ้นจากการเป็นพนักงาน จึงไม่ใช่พนักงานผู้ได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนพนักงาน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 แล้ว ไม่ใช่ผู้เป็นพนักงานของจำเลย ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 ที่บัญชีอัตราเงินเดือนเดิมถูกยกเลิกไปตามข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือน (บัญชีหมายเลข 1) ท้ายข้อบังคับองค์การตลาดว่าด้วยการจัดระเบียบริหารงาน พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2548 (บัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น จำเลยไม่ต้องปรับเงิน เงินเพิ่ม และจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ประการสุดท้ายนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน

Share