แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของที่ดินผู้ให้เช่านาจะขายนาไปต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53และมาตรา 54 กำหนดไว้ หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่ ดังนั้นถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปให้จำเลยโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 54 โจทก์ผู้เช่านาย่อมมีสิทธิซื้อนาจากจำเลยได้ สิทธิของโจทก์ตามมาตรา 54 ดังกล่าว หาได้ระงับสิ้นไปโดยผลของสัญญาประนี-ประนอมยอมความไม่
แม้ประธาน คชก.ตำบลจะมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยให้จำเลยทราบพร้อมทั้งระบุว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัยซึ่งเป็นการแจ้งระยะเวลายื่นอุทธรณ์คลาดเคลื่อนไปจากที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 56 กำหนดไว้ก็ตาม จำเลยก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ว่ากฎหมายบัญญัติให้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด60 วัน นับแต่วันที่ คชก.ตำบลได้มีคำวินิจฉัยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลย่อมเป็นที่สุด และเมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของ คชก.ตำบล โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยขอให้ขายที่นาพิพาทตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลได้
ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทแต่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ คดีก่อนโจทก์ฟ้อง ส. กับจำเลยขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายนาพิพาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ในฐานะผู้เช่ามีสิทธิซื้อนาจากจำเลยตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แต่ทั้งนี้โจทก์จะต้องใช้สิทธิซื้อนาดังกล่าวก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา54 โจทก์จะขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ดังนั้น ในคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายนั้นกำหนด จึงยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำฟ้องของโจทก์ แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้ โจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้วโจทก์จึงฟ้องจำเลยผู้รับโอนนาพิพาทขอให้จดทะเบียนขายนาพิพาทให้โจทก์เช่นนี้จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน