แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 และสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ระบุชัดว่าเป็นการกู้เบิกเงินเกินบัญชีและค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 715 ซึ่งจำเลยที่ 1เปิดไว้กับธนาคารโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินตามสัญญาที่ทำไว้โดยวิธีเดินสะพัดจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว บัญชีนั้นจะเป็นบัญชีชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัว หรือเป็นบัญชีของบริษัทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการ เป็นผู้เปิดไว้ในนามของบริษัทจึงไม่ใช่ข้อสำคัญ และไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด
แม้จำเลยที่ 1 จะเบิกเงินเกินบัญชีอยู่ก่อนแล้วก่อนทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันแต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันจำนวนเงินที่เบิกคือ ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 715 การเบิกเงินเกินบัญชีย่อมหมายถึงการเบิกจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ที่เป็นหนี้ธนาคารอยู่ทั้งหมด จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีอยู่แล้วและจะมีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้จำกัดในวงเงินและระยะเวลาตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ ธนาคารโจทก์จะให้จำเลยรับรองหนี้เดิมนั้นหรือไม่จึงไม่เป็นข้อสำคัญ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่1ซึ่งมีอยู่ก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย
ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ มีข้อความว่าถ้าธนาคารโจทก์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมด้วยทุกครั้งไป โดยธนาคารไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบก่อน เป็นความยินยอมของจำเลยที่ 2 โดยสมัครใจยอมค้ำประกันต่อไปอีกเอง จึงใช้บังคับได้ และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด
การคิดดอกเบี้ยทบต้นในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงตามประเพณีการค้าที่ให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดเมื่อยังไม่มีการหักทอนบัญชีต่อกัน ดอกเบี้ยทบต้นจึงยังคงคิดคำนวณกันได้ต่อไป จนถึงวันที่หักทอนบัญชี และมีการผิดนัดแล้วจึงจะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นต่อไปอีกไม่ได้ คงคิดได้แต่ดอกเบี้ยอัตราตามสัญญา โดยวิธีคิดดอกเบี้ยธรรมดาจากเงินต้นซึ่งรวมดอกเบี้ยทบต้นสำหรับระยะเวลาก่อนผิดนัดเป็นเงินต้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าธนาคารโจทก์สาขาคลองเตยมีบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ ๗๑๕ และได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ก่อนแล้ว ๔๙,๗๒๔.๔๑ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาขอกู้โดยวิธีเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท กำหนดชำระใน ๖ เดือน และให้ถือว่าเงินที่เบิกไปก่อนแล้วเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนี้ด้วย โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ทบต้นตามประเพณีธนาคาร มีจำเลยที่ ๒เป็นผู้ค้ำประกัน และจำนองที่ดินโฉนดที่ ๑๒๕๘๑, ๑๒๕๘๒ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาได้มีการต่ออายุสัญญาอีก ๔ ครั้ง โดยจำเลยที่ ๒ ยินยอมด้วยจำเลยที่ ๑ ใช้เช็คเบิกรับเงินไปและมีการหักทอนบัญชีกันตลอดมาครั้งหลังสุดรวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ เป็นเงิน ๖๐,๙๘๙.๓๖ บาทจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหนี้ โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยทบต้น หากไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระได้ไม่ครบให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนครบ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด และว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน ๕๒,๔๖๙.๓๓ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๔ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยวิธีคิดดอกเบี้ยตามธรรมดา หากไม่ชำระ ให้เอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินไม่ครบ ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่น
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน๕๒,๔๖๙.๓๓ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยตามธรรมดานับตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ระยะหนึ่ง และนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปอีกระยะหนึ่ง เฉพาะจำเลยที่ ๒ให้ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ ๑๐มีนาคม ๒๕๐๘ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ แต่ไม่เกิน ๕๒,๔๖๙.๓๓ บาทและดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๓๐กรกฎาคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ระยะหนึ่งและอีกระยะหนึ่งนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และวินิจฉัยต่อไปว่าคดีฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ ๒ เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ตามฟ้อง ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑และสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ระบุชัดว่าเป็นการกู้เบิกเงินเกินบัญชีและค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๗๑๕ ที่จำเลยที่ ๑เปิดไว้กับธนาคารโจทก์เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ ๑ ได้เบิกเงินตามสัญญาที่ทำไว้โดยวิธีเดินสะพัดจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวบัญชีนั้นจะเป็นบัญชีชื่อของจำเลยที่ ๑ เป็นส่วนตัว หรือเป็นบัญชีของบริษัทที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการเป็นผู้เบิกไว้ในนามของบริษัท จึงไม่ใช่ข้อสำคัญและไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดไปได้เพราะเป็นการปฏิบัติตรงตามสัญญาที่จำเลยที่ ๒ มุ่งเข้าค้ำประกันนั่นเองส่วนที่จำเลยที่ ๑ ได้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่ก่อนแล้วก่อนทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่จำเลยที่ ๒ เข้าค้ำประกัน ได้ความว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๒เข้าค้ำประกันจำนวนเงินที่เบิก คือ ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๗๑๕ซึ่งการเบิกเงินเกินบัญชีย่อมหมายถึงการเบิกจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ที่เป็นหนี้ธนาคารอยู่ทั้งหมด จำเลยที่ ๒ เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการค้ำประกันหนี้ที่จำเลยที่ ๑ มีอยู่แล้วและจะมีขึ้นในอนาคต ทั้งนี้จำกัดในวงเงินและระยะเวลาตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ธนาคารโจทก์จะให้จำเลยรับรองหนี้เดิมนั้นหรือไม่ จึงไม่เป็นข้อสำคัญ จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย สำหรับข้อสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ทำให้โจทก์ไว้ในการต่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๖, ๗ ที่ว่า”และถ้าธนาคารฯ จะได้ต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก ก็ให้ถือว่า ข้าพเจ้าได้ยินยอมในการต่อสัญญานั้น ๆ ทุก ๆ ครั้งไป โดยธนาคารไม่จำต้องแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบก่อน”เป็นความยินยอมของจำเลยที่ ๒ โดยสมัครใจยอมค้ำประกันต่อไปอีกเองจึงใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด การคิดดอกเบี้ยทบต้นในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงตามประเพณีการค้าที่ให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดเมื่อยังไม่มีการหักทอนบัญชีต่อกัน ดอกเบี้ยทบต้นจึงยังคงคิดคำนวณกันได้ต่อไปจนถึงวันที่หักทอนบัญชี และมีการผิดนัดแล้ว จึงจะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นต่อไปอีกไม่ได้ คงคิดได้แต่ดอกเบี้ยอัตราตามสัญญาโดยวิธีคิดดอกเบี้ยธรรมดาคดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชีแล้วเป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ยเป็นจำนวน ๕๒,๔๖๙.๓๓ บาทจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ และผูกพันเข้าร่วมรับผิดในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ตลอดจนดอกเบี้ยของเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทนั้นเงิน ๕๒,๔๖๙.๓๓ บาทนี้อยู่ในวงเงินประกัน ๕๐,๐๐๐ บาทและดอกเบี้ย จำเลยที่ ๒จึงต้องร่วมรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ และเมื่อเงินจำนวนนี้เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ยทบต้นสำหรับระยะก่อนผิดนัด จึงถือเป็นเงินต้นทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยธรรมดาตามอัตราในสัญญาต่อไป ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ดอกเบี้ยต่อไปจนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒จึงชอบแล้ว แต่ที่ให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑และแยกคำนวณความรับผิดของจำเลยที่ ๒ ออกคิดคำนวณต่างหาก ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเหตุจำเลยที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดดังวินิจฉัยแล้ว และได้มีการหักทอนบัญชีกันจนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ซึ่งหมายถึงได้คิดหักทอนเงินต้นและดอกเบี้ยทบต้นกันจนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑แล้วเงินจำนวนนี้เป็นเงินต้นทั้งหมดที่จะต้องเสียดอกเบี้ยธรรมดาต่อจากวันหักทอนบัญชีกันแล้วต่อไป คือ นับตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๑เป็นต้นไป หาใช่ตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ไม่
อนึ่ง สำเนาบัญชีกระแสรายวันบัญชีเลขที่ ๗๑๕ ตามที่โจทก์ส่งศาลอ้างเป็นพยานคดีนี้ โจทก์ได้มีคำร้องลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ขออนุญาตอ้างสำเนาแทนต้นฉบับ และศาลก็ได้รับสำเนาและพิจารณาแทนต้นฉบับตลอดมา จำเลยรับสำเนาคำร้องไปแล้วก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด ทั้งจำเลยก็มิได้ให้การปฏิเสธหรือโต้แย้งว่า รายการในสำเนาบัญชีจนถึงวันที่ ๓๐กรกฎาคม ๒๕๑๑ รายการใด และการคิดคำนวณดอกเบี้ยข้อไหนไม่ถูกต้องอย่างใด กลับให้การรับตามรายการในสำเนาบัญชีนั้น ดังนี้ สำเนาบัญชีที่โจทก์อ้างจึงรับฟังได้ หาเป็นการขัดต่อมาตรา ๙๓ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ ส่วนข้ออ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งยอดหนี้สินของจำเลยที่ ๑ให้จำเลยที่ ๒ ทราบด้วย เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตามสัญญาไม่มีข้อความว่าจะต้องแจ้ง และเป็นเรื่องนอกประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ ชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๒,๔๖๙.๓๓ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยธรรมดาในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม๒๕๑๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ระยะหนึ่ง และนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จอีกระยะหนึ่ง โดยไม่ต้องแยกคิดเป็นการเฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์