แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของตน แต่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบิดาจึงมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่าในขณะยื่นคำฟ้องที่พิพาทอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ5,000 บาท หรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเนื้อที่ ราคา ที่ตั้งและสภาพทั่ว ๆ ไปของที่พิพาทแล้ว อาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ก็ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นฎีกา ตามคำร้องสอดของจำเลยที่ 3 มิได้กล่าวอ้างหรือยกประเด็นในเรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตไว้ ทั้ง ๆ ที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายตนที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่โจทก์ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันเฉพาะสำนวนหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นายโปร่ง ภาคีอรรถหรือภาคีอัตร ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความและให้เรียกผู้ร้องสอดว่าจำเลยที่ 3
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ เนื้อที่ 13 ไร่เศษ โดยรับโอนมาจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 ที่ 2 บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างอาคารทางทิศเหนือของที่ดินดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 บุกรุกเป็นเนื้อที่ 108.89 ตารางวา ตามสำนวนแรก จำเลยที่ 2 บุกรุกเป็นเนื้อที่ 11.25 ตารางวา ตามสำนวนหลัง ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1ที่ 2 ออกจากที่พิพาท หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ยอมรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์รื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่พิพาททางทิศเหนือซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยที่ 3บิดาจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องสอดว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่พิพาทมาจากนางเทียม ภาคีฐิน เนื้อที่ประมาณ 3 งาน โดยมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทบางส่วนเนื้อที่3 งาน ทางด้านทิศเหนือของที่พิพาท ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ของนายสำรวย ภาคีฐินกับนางแกละ สุขกินเจ และเพิกถอนการโอนขายที่ดินระหว่างคนทั้งสองกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 3
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยปลูกสร้างโรงเรือนหรือทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยที่ 3 จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินพิพาทมานาน50 ปี แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งได้ที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้รับโอนที่ดินจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยสุจริต พิพากษาให้จำเลยทั้งสองสำนวนรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ส่วนคำขอให้โจทก์มีสิทธิรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่รื้อถอนนั้นให้ยกเสีย และให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 3
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2มิได้ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของตน แต่อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นบิดา จึงมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ข้อเท็จจริงตามสำนวนไม่ปรากฏว่า ในขณะยื่นคำฟ้องที่พิพาทอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ5,000 บาท หรือไม่ แต่ได้ความตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่พิพาทเป็นเนื้อที่ 108.89 ตารางวา จำเลยที่ 2 บุกรุกเป็นเนื้อที่ 11.25 ตารางวา และปรากฏจากแผนที่วิวาทว่าบ้านของจำเลยที่ 1ปลูกอยู่ในที่พิพาทเป็นเนื้อที่ 96 ตารางวา บ้านของจำเลยที่ 2เนื้อที่ 43 ตารางวา และตามหนังสือรับรองราคาประเมินของที่พิพาทของสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เอกสารอันดับที่ 103ในสำนวนแรกระบุว่าที่พิพาทราคาประเมินไร่ละ 120,000 บาท ดังนั้นที่ดินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกจึงมีราคาไม่เกิน 32,667 บาทและที่จำเลยที่ 2 บุกรุกราคาไม่เกิน 12,900 บาท ที่พิพาทตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ไม่ปรากฏว่าอยู่ในทำเลการค้าอันจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงเป็นพิเศษแต่อย่างใด เชื่อว่าที่พิพาททั้งสองสำนวนอาจให้เช่าในขณะยื่นคำฟ้องได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 6 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยยื่นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ซึ่งฎีกาเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1และที่ 2 แม้จะไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่ตามคำร้องสอดของจำเลยที่ 3 มิได้กล่าวอ้างหรือยกประเด็นในเรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยไม่สุจริตไว้ทั้ง ๆที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายตนที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานอันเป็นคุณแก่โจทก์ว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและโจทก์รับโอนที่พิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสาม