คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1338/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 202 จะต้องเป็นกรณี ที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน อันได้แก่ วัน ที่ศาลเริ่มต้นสืบพยานครั้งแรกจริง ๆ เมื่อได้มีการสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเสร็จสิ้นแล้วการที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัด สืบพยานจำเลยจึงมิใช่การขาดนัดพิจารณาอันจะถือได้ว่ามีเหตุ ที่จะขอให้พิจารณาใหม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนอง หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธความรับผิดขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนแล้วให้จำเลยสืบแก้
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว มีการเลื่อนสืบพยานจำเลยรวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยทั้งสามไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งว่าถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสาม แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและมีคำสั่งให้พิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพิเคราะห์แล้วจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีขอเลื่อนอีกหลายครั้งทนายจำเลยแถลงตามกระบวนพิจารณา ว่าติดตามหาตัวจำเลยไม่พบ ทนายจำเลยขอถอนตัว ได้แจ้งให้จำเลยทราบพร้อมทั้งแจ้งวันนัดสืบพยานให้ทราบจำเลยก็ไม่มาศาล ต่อมาศาลได้หมายแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยให้จำเลยทราบอีก 2 ครั้ง จำเลยก็ไม่มาศาล ครั้งสุดท้ายศาลหมายแจ้งวันนัดสืบพยานจำเลยและแจ้งให้จำเลยทราบว่าให้เตรียมพยานมาศาลให้พร้อมมิฉะนั้นถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าได้ส่งหมายนัดให้จำเลยได้โดยชอบแต่จำเลยก็ไม่มาศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานและไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลย กรณีมิใช่การขาดนัดพิจารณาไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่ง คำขอของจำเลยไม่เข้ากรณีจะขอพิจารณาใหม่ จึงให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยทั้งสามได้ทราบวันนัดที่ให้นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา และจำเลยทั้งสามได้ขาดนัดพิจารณาอันจะถือได้ว่ามีเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 14 ธันวาคม2530 เวลา 9 นาฬิกา ถึงวันนัดคู่ความแถลงว่าคดีมีทางตกลงกันได้ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2531เวลา 9 นาฬิกา ถึงวันนัดศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 21 มีนาคม 2531 เวลา 13.30 นาฬิกาและกำชับทนายจำเลยว่า นัดหน้าให้นำพยานมาสืบให้หมด พยานที่ไม่มาศาลจะถือว่าไม่ติดใจสืบ ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2531 ทนายจำเลยมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยศาลชั้นต้นสั่งให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 6 พฤษภาคม 2531เวลา 13.30 นาฬิกา โดยกำชับว่าให้ทนายจำเลยนำตัวจำเลยทั้งสามมาศาล และให้ทนายจำเลยแจ้งการถอนตัวให้จำเลยทั้งสามทราบ โดยศาลจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกถึงวันนัดวันที่ 6 พฤษภาคม 2531ทนายจำเลยขอเลื่อน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวจากการเป็นทนายและอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 15 มิถุนายน2531 เวลา 13.30 นาฬิกา โดยให้ทนายแจ้งวันนัดสืบพยานของจำเลยพร้อมทั้งแจ้งเรื่องที่ทนายจำเลยถอนตัวและศาลอนุญาตแล้วให้จำเลยทั้งสามทราบ ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลมิได้แจ้งเรื่องทนายจำเลยถอนตัวให้จำเลยทั้งสามทราบ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา โดยศาลชั้นต้นได้ออกหมายแจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสามทราบ ในหมายดังกล่าวได้แจ้งด้วยว่า ศาลได้อนุญาตให้ทนายของจำเลยถอนตัวจากการเป็นทนายของจำเลยทั้งสามแล้ว และในวันนัดให้จำเลยทั้งสามเตรียมพยานมาสืบให้พร้อม มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นได้ส่งหมายดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามได้โดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้วถึงวันนัดจำเลยทั้งสามไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสาม พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามหมายนัดฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2531 ได้จัดส่งให้จำเลยทั้งสามโดยวิธีปิดหมายตามรายงานการเดินหมาย ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2531อันเป็นการส่งโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79แล้ว จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามได้ทราบวันนัดที่ให้นัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา และกรณีดังกล่าวมิใช่จำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 202 เพราะการขาดนัดพิจารณาจะต้องเป็นกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันนัดสืบพยาน คือวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานซึ่งในคดีนี้คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2531 ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสามไม่มาศาลตามนัดในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531 จึงมิใช่การขาดนัดพิจารณาอันจะถือได้ว่ามีเหตุที่จะขอพิจารณาใหม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยทั้งสามมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share