คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ย – 6804 กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อชนท้าย รถยนต์ ของ โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 172,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่า สินไหมทดแทนแก่โจทก์ 172,000 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน11,825 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะใช้เงินครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เช่ารถจากจำเลยที่ 1 รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ให้บุคคลอื่นขับรถบรรทุกคนโดยสารแทน โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงเรื่องค่าเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 1 จึงหลุดพ้นความรับผิดค่าเสียหายไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน81,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันทำละเมิด จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ ส่วนสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 2ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไป เห็นว่า ข้อความที่พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้นไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีกข้อความในสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว มิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิดนั้น
พิพากษายืน.

Share