คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยฟ้องแย้งว่าโจทก์ผิดสัญญาและทิ้งงาน จำเลยต้องจ้างคนอื่นแทน ให้โจทก์ใช้เงินที่ต้องจ้างเกินไป ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยสละสิทธิที่อ้างมาในฟ้องและในฟ้องแย้งทั้งสิ้น ให้โจทก์จำเลยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาซึ่งทำกันใหม่พร้อมสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนี้ เมื่อศาลพิพากษาตามยอมมิได้ให้คู่ความฝ่ายใดแพ้คดีหรือชนะคดี ซึ่งจะต้องมีการบังคับคดีเกิดขึ้น สัญญาจ้างเหมารายใหม่จึงมิใช่อยู่ใน+บังคับคดีที่ศาลพิพากษา คู่ความฝ่ายใดจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพราะเหตุผิดสัญญารายใหม่ให้มีการบังคับคดีให้คดีนี้โดยไม่มีการฟ้องร้องเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีใหม่หาได้ไม่
และในกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งหรือพิพากษาล่วงหน้าว่าอีกฝ่ายหนึ่งหมดสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารายใหม่เมื่อมีกรณีผิดสัญญาเกิดขึ้นนั้นโดยฝ่ายนั้นยังไม่ทันใช้สิทธิเรียกร้องเลย ก็อาจทำได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกเงิน ๔๘,๖๔๔ บาท อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างศาลาการเปรียญ โดยไม่จ่ายเงินตามงวดที่ตกลงไว้
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ปลูกสร้างไม่ถูกต้องตามสัญญาและผิดแบบธรรมเนียมปฏิบัติ แล้วทิ้งงานไป จำเลยต้องไปจ้างคนอื่นทำต่อ เสียค่าจ้างเกินไป ๓๐,๐๐๐ บาท ฟ้องแย้งให้โจทก์ชดใช้
ชั้นพิจารณาคู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ยอมทำการก่อสร้างตามรายการท้ายสัญญาประนีประนอมให้เสร็จภายใน ๑๒๐ วัน จำเลยยอมให้ค่าจ้าง ๒๘,๐๐๐ บาท ถ้าโจทก์ทำไม่เสร็จภายในกำหนดยอมให้ปรับวันละ ๕๐ บาท โจทก์จะลงมือก่อนสร้างภายในกำหนด ๖๐ และจะไม่หยุดพักเกิน ๓๐ วัน ถ้าไม่ลงมือภายใน ๖๐ วัน หรือหยุดพักเกิน ๓๐ วันถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ยอมให้จำเลยเลิกสัญญาได้ทันที และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหายสัมภาระสิ่งของทุกอย่างในที่ก่อสร้างตกเป็นของจำเลย โจทก์จำเลยยอมสละสิทธิที่อ้างมาในฟ้องและในคำให้การฟ้องแย้งให้แก่กันทั้งสิ้น คงให้ถือว่ามีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญายอมความนี้เท่านั้น
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว
ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ให้ช่างลงมือทำงานได้เพียง ๖ วันแล้วพักไม่ทำการก่อสร้างตลอดมาเป็นเวลาเกิน ๓๐ วันแล้ว จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างหรือค่าเสียหาย สัมภาระในที่ก่อสร้างเป็นของจำเลย ขอให้ศาลหมายนัดโจทก์มาปฏิบีติการให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้ผิดสัญญา ทางวัดไม่ยอมให้ทำต่อไป ช่างของโจทก์จึงต้องหยุดการสร้าง ขอให้เรียกจำเลยมาเจรจาให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไป
ศาลชั้นต้นให้การไต่สวนแล้วฟังว่า ผู้รับเหมาจากโจทก์หยุดงานเรื่อยมาเกินกว่า ๓๐ วัน เป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าจ้างหรือค่าเสียหาย สัมภาระทุกอย่างในที่ก่อสร้างตกเป็นของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ ว่าไม่ได้ผิดสัญญา ขอให้สั่งให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียว่า สิ่งของที่โจทก์นำมาหลังจากสัญญาก่อสร้างได้สิ้นสุดลงแล้ว ตามเอกสาร จ.๗ ให้จำเลยคืนแก่โจทก์ไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้คู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมสละสิทธิที่อ้างในฟ้องและในฟ้องแย้งให้แก่กันทั้งสิ้น คงมีสิทธิและหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาซึ่งทำกันใหม่ พร้อมกับสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อศาลพิพากษาตามยอมมิได้ให้คู่ความฝ่ายใดแพ้คดีหรือชนะคดีซึ่งจะมีการบังคับเกิดขึ้น สัญญาจ้างเหมารายใหม่จึงมิใช่อยู่ในข่ายบังคับคดีที่ศาลพิพากษา ผลของคำพิพากษามีแต่เพียงว่า ตกลงระงับสิทธิตามสัญญาเก่าแล้วทำสัญญาจ้างเหมากันใหม่ ส่วนใคร จะผิดสัญญา จะได้สิทธิอย่างใดในกรณีผิดสัญญา ศาลมิได้พิพากษาถึง คู่ความฝ่ายใดจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพราะเหตุผิดสัญญารายใหม่ ให้มีการบังคับคดีในคดีนี้โดยไม่มีการฟ้องร้องเสนอ คดีต่อศาลเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ ทั้งศาลจะสั่งหรือพิพากษาล่วงหน้าว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค่าเสียหาย โดยโจทก์ยังมิทันใช้สิทธิเรียกร้องก็หาถูกต้องไม่
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลยเสียโดยให้ไปดำเนินคดีเป็นคดีใหม่

Share