คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนว่า จำเลยได้บังอาจเสพเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ทราบจำนวน รับเข้าร่างกายด้วยการสูบ และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้มีไว้ในความครอบครองซึ่งเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาดซึ่งเหลือจากที่จำเลยเสพแล้วไว้ในความครอบครองของจำเลย ฯลฯ จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นการยอมรับข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยเสพเฮโรอีน และมีเฮโรอีนที่เหลือจากการเสพไว้ในความครอบครองจริง ทั้ง 2 กระทงความผิดเป็นความผิดที่แยกกันได้ เพราะข้อหาฐานมีเฮโรอีนนั้นโจทก์มุ่งถึงเฮโรอีนซึ่งจำเลยมีอยู่หลังจากได้เสพไปบ้างแล้ว มิใช่เฮโรอีนที่จำเลยทั้งสองได้เสพไปแล้วซึ่งจะต้องมีอยู่จึงจะเสพได้จึงลงโทษจำเลยทั้งสองฐานได้
เสพเฮโรอีนและมีเฮโรอีนที่เหลือจากการเสพไว้ในความครอบครอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นกระทงความผิด เมื่อจำเลยกระทำความผิดภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องลงโทษจำเลยเป็นรายกระทงความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2515 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้บังอาจเสพเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ทราบจำนวนรับเข้าร่างกายด้วยการสูบ และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งเหลือจากที่จำเลยเสพแล้วไว้ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองร่วมกัน 1 ห่อ หนัก 200 มิลลิกรัม ราคา 6 บาท โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ขอให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2465 มาตรา 4, 4 ทวิ, 20 ตรี, 22, 29 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 7, 8, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ข้อ 2 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และสั่งริบของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 รับข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องการที่จำเลยมีเฮโรอีนไว้เพื่อเสพถือว่าเป็นกรรมเดียวกัน จึงไม่เรียงกระทงลงโทษตามที่โจทก์ขอ ให้ลงโทษตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 3 ปี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีริบของกลาง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดทั้งฐานมีและฐานเสพเฮโรอีนและต้องเรียงกระทงลงโทษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองได้บังอาจเสพเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาดซึ่งไม่ทราบจำนวน รับเข้าร่างกายด้วยการสูบ และตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองนี้ได้ร่วมกันมีไว้ในความครอบครองซึ่งเฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาดซึ่งเหลือจากที่จำเลยเสพแล้ว 1 ห่อ มีน้ำหนัก 200 มิลลิกรัม ฯลฯ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นการยอมรับข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองเสพเฮโรอีนและจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีนที่เหลือจากการเสพไว้ในความครอบครองจริง ทั้ง 2 กระทงความผิดเป็นความผิดที่แยกกันได้เพราะข้อหาฐานมีเฮโรอีนนั้นโจทก์มุ่งถึงเฮโรอีนซึ่งจำเลยมีอยู่หลังจากได้เสพไปบ้างแล้ว มิใช่เฮโรอีนที่จำเลยได้เสพไปแล้วซึ่งจะต้องมีเฮโรอีนอยู่จึงจะเสพได้ จึงลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานมีเฮโรอีนไว้ในความครอบครองอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้าม โดยเด็ดขาดได้อนึ่ง จำเลยกระทำความผิดภายหลังวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2514 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วบัญญัติขึ้นใหม่แทนให้ศาลลงโทษผู้ที่ได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป คดีนี้จึงต้องลงโทษจำเลยเป็นรายกระทงความผิด และปรากฏว่าศาลล่าง ทั้งสองพิพากษาอ้างบทมาตราที่ยกขึ้นปรับลงโทษจำเลยมายังไม่ถูกต้องด้วย

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเสพเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465 มาตรา 4 ทวิมาตรา 22 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2504มาตรา 4, 8 กระทงหนึ่ง ให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี และจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดต้องห้ามโดยเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช 2465มาตรา 4 ทวิ มาตรา 20 ตรี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 7 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อีกกระทงหนึ่งให้จำคุกจำเลยคนละ 1 ปี รวมโทษ 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยคนละ 3 ปีเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระพุทธศักราช2465 มาตรา 26 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 กึ่งหนึ่ง เป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษปรานีลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 3 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share