คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1331/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การฟังหรือไม่ฟังพยานหลักฐานใด ในคดีอยู่ในดุลพินิจ ของศาลการที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาพยานหลักฐานบางประการของโจทก์เป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นฎีกาโต้เถียง ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ.มาตรา 220.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 172,173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัทธอร์น อี เอ็ม ไอ สกรีนเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ได้มอบอำนาจแก่จำเลยที่ 1 อีกต่อหนึ่งให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจกล่าวหาว่า โจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ (วี.ดี.โอ.) เรื่อง ซุปเปอร์เกิร์ลและเรื่องซุปเปอร์แมน ภาค 3 ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าวเพื่อการค้า ทำให้โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า และจำเลยที่ 1 ได้เป็นพยานเข้าเบิกความต่อศาลในคดีดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องที่แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเบิกความต่อศาลโดยจำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่า บริษัทธอร์น อี เอ็ม ไอ สกรีน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัดผู้มอบอำนาจให้ไปแจ้งความเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ (วี.ดี.โอ.)เรื่องซุปเปอร์เกิร์ล และซุปเปอร์แมน ภาค 3 ในประเทศไทย ส่วนศาลอุทธรณ์ฟังว่าการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 ก็ดีและคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ก็ดี ฟังไม่ได้ว่าเป็นความเท็จ ดังนี้จึงเป็นคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันโจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานของโจทก์ตามทางไต่สวนพอฟังได้ว่าการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยที่ 1 และคำเบิกความของจำเลยที่ 1มีมูลอันเป็นเท็จดังนี้ เป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่โจทก์ฎีกามาอีกประการหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาพยานหลักฐานบางประการของโจทก์เป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า การฟังหรือไม่ฟังพยานหลักฐานใดในคดีอยู่ในดุลพินิจของศาล จึงเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.

Share