คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องคดีอาญาหาว่าจำเลยยักยอกเงิน โจทก์ได้ระบุวันเวลาที่มอบเงินกับวันที่ตรวจสอบบัญชีพบรู้ว่าจำเลยยักยอก แม้จะไม่ได้ระบุวันเวลาที่จำเลยยักยอก ก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์

ย่อยาว

คดีนี้เป็นปัญหาสู่ศาลฎีกาว่าฟ้องคดีส่วนอาญาของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลได้จ้างจำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการร้านรับค่าจ้างเป็นรายเดือน จำเลยจึงทำให้ฐานะผู้มีอาชีพหรือธุระกิจส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นภริยาจำเลยที่ ๑ และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ โดยการแสดงออกชัดแจ้งและปริยาน นายอดุลย์นายโจทก์ได้รับเงินในฐานะทนายความตัวแทนของโจทก์เป็นจำนวน ๘,๓๖๗.๑๒ บาท นายอดุลย์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมอบให้แก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๒ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับเงินดังกล่าวนี้ไว้โดยเจตนาทุจริต ด้วยการปกปิดความจริงและยังอาจร่วมกระทำความผิดยักยอกเอาเงิน ๘,๓๖๗.๑๒ บาท ของโจทก์ไว้เป็นของตนเสียโดยทุจริต ไม่ได้นำส่งต่อโจทก์ตามหน้าที่ของจำเลย ซึ่งเป็นผู้มีอาชีดเป็นการเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ได้จัดการให้ตรวจสอบบัญชีเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จึงทราบว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการทุจริตดังกล่าว เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒,๓๕๓,๓๕๔,๘๖
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันว่า ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗/๒๔๙๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ โจทก์ได้ระบุวันเวลาที่มอบเงินกับวันที่ตรวจสอบบัญชีพบรู้ว่าจำเลยยักยอก ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความตามฟ้องนั้นแสดงให้เห็นได้แล้วว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไว้นั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็ระหว่างวันมอบเงินจนถึงวันตรวจบัญชีพบ และโจทก์เพิ่งรู้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกในวันเวลาใดนั้น เป็นการเหลือวิสัยที่โจทก์จะล่วงรู้ โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องระบุวันเวลาส่งมอบกับวันที่ตรวจพบรู้ว่าจำเลยยักยอก พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว คดีนี้ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าไม่เข้าใจคำฟ้องหรือผิดหลงต่อสู้ประการใด เห็นได้ว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘(๕) แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์เทียบตามนัยฎีกาที่ ๔๓๐/๖๔๘๖ และฎีกาที่ ๑๒๙๓/๐๒ ส่วนฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างมานั้น ฟ้องของโจทก์ระบุแต่วันรับมอบ แม้แต่วันที่รู้ว่าจำเลยยักยอกก็ไม่ปรากฎในฟ้อง ฟ้องของโจทก์ในคดีนั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งไม่เหมือนกับคดีนี้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีอาญาว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ และคดีขาดอายุความแต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่าฟ้องไม่สมบูรณ์ มิได้วินิจฉัยว่าขาดอายุความ เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ก็จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาทางอาญาต่อไป ส่วนการวินิจฉัยคดีแพ่งนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคดีอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๔๖
พิพากษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ

Share