แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายสองครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองครั้ง จำเลยกระทำที่บ้านพักผู้เสียหาย การกระทำแต่ละครั้งเป็นการกระทำที่คล้ายกัน ลักษณะการเบิกความของผู้เสียหายเป็นการเบิกความที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันระหว่างการกระทำความผิดในครั้งแรกและครั้งหลังของจำเลย การที่ผู้เสียหายเบิกความถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยโดยละเอียดในครั้งแรก แล้วเบิกความถึงการกระทำความผิดในครั้งหลังต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอีกครั้ง เมื่อฟังคำเบิกความย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเรารวมสองครั้ง ด้วยพฤติการณ์ที่เหมือนกัน ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้โอนคดีของจำเลยในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในครั้งแรกไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดชุมพรแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากขณะกระทำผิดในครั้งแรกจำเลยอายุ 17 ปี ยังถือเป็นเยาวชนอยู่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่เกี่ยวกับรายละเอียดของพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยต้องรับฟังแยกกันจนถือว่าเหตุการณ์ครั้งหลังโจทก์นำสืบโดยไม่มีรายละเอียดของพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยและเป็นการนำสืบไม่สมตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคแรกเดิม) จำคุก 6 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าโจทก์ได้นำสืบพยานดังรายละเอียดของพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2549 แล้วหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ปากผู้เสียหาย เบิกความยืนยันว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายสองครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองครั้งจำเลยกระทำที่บ้านพักผู้เสียหาย การกระทำแต่ละครั้งเป็นการกระทำที่คล้ายกัน ลักษณะการเบิกความของผู้เสียหายเป็นการเบิกความที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันระหว่างการกระทำความผิดในครั้งแรกและครั้งหลังของจำเลย ดังนั้น การที่ผู้เสียหายเบิกความถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยโดยละเอียดในครั้งแรก แล้วเบิกความถึงการกระทำความผิดในครั้งหลังต่อเนื่องไปในคราวเดียวกันว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอีกครั้ง เมื่อฟังคำเบิกความของผู้เสียหายโดยรวมแล้วจึงย่อมเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายถูกจำเลยกระทำชำเรารวมสองครั้ง ด้วยพฤติการณ์ที่เหมือนกัน ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้โอนคดีของจำเลยในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยในครั้งแรกไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดชุมพรแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากขณะกระทำผิดในครั้งแรกจำเลยอายุ 17 ปี ยังถือเป็นเยาวชนอยู่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายที่เกี่ยวกับรายละเอียดของพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยต้องรับฟังแยกกันจนถือว่าเหตุการณ์ครั้งหลังโจทก์นำสืบโดยไม่มีรายละเอียดของพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยและเป็นการนำสืบไม่สมตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแต่อย่างใด การสืบพยานของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบดังรายละเอียดการกระทำความผิดในครั้งหลังของจำเลยด้วยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบไม่สมตามฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุเพียง 14 ปี การที่หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไม่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บุคคลใดฟัง อาจเป็นเพราะผู้เสียหายมีความอ่อนวัยไม่ประสีประสาและอาจเกิดความกลัวจากคำขู่ของจำเลยที่ขู่จะทำร้ายผู้เสียหายหรือกลัวอับอาย ซึ่งเป็นปกติวิสัยของเด็กหญิงหรือหญิงสาวทั่วไปที่อับอาย มิกล้าเล่าเรื่องที่ตนถูกกระทำชำเราให้ผู้ใดฟัง ดังนั้น การที่หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้บุคคลใดฟังจึงไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด อีกทั้งบ้านที่เกิดเหตุปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่ามีเพียงลุงผู้เสียหาย ผู้เสียหาย และจำเลย อาศัยอยู่เท่านั้น การที่จำเลยจะเลือกกระทำความผิด จำเลยก็ต้องเลือกเวลาในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เพื่อเป็นการสะดวกในการกระทำความผิด ไม่เลือกในช่วงเวลาที่มีคนอยู่จำนวนมาก กรณีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายในขณะที่ไม่มีคนอยู่ อีกทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยถึงขนาดที่จะต้องเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยให้ต้องรับโทษ ประกอบทั้งผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แม้จะตรวจภายหลังเกิดเหตุประมาณ 3 เดือน แต่ก็พบมีรอยฉีกขาดเดิมของเยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายโดยที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยร่วมประเวณีกับชายอื่นมาก่อนเช่นนี้ จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความเป็นจริง ทั้งจากพฤติการณ์หลังเกิดเหตุที่มารดาจำเลยปรึกษากับนายแสง พัดทรัพย์ ลุงของผู้เสียหายแล้วยอมทำบันทึกผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บิดาผู้เสียหายอันเป็นการยอมรับผิดเช่นนี้ ก็เป็นข้อพิรุธอีกเช่นกันเพราะหากจำเลยไม่ได้กระทำความผิดจริง ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่มารดาจำเลยจะต้องทำบันทึกผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่บิดาผู้เสียหาย จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้วและคดีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่จะรอการลงโทษให้จำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น