แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชุมพร จำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ถึงแม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 4 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าทนายความทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยปราศจากอำนาจ และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นมูลหนี้เดิมของคดีแพ่งดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิม
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 4 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เป็นทายาทประสงค์ขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางโดยคู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า ศาลจังหวัดชุมพรมีคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 204/2543 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้แก่ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้เดิมจึงยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดตามหมายบังคับคดีได้เงินมาชำระหนี้บางส่วน โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวและได้รับอนุญาตจากศาลให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนเจ้าหนี้เดิม ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 จำเลยที่ 3 ถูกโจทก์ยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่มีว่า จำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องและมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้แต่งตั้งทนายความให้ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดชุมพรที่โจทก์อาศัยเป็นมูลฟ้องคดีนี้ ส่วนมูลหนี้เดิมเป็นสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นกลฉ้อฉลซึ่งถูกบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชุมพร คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 204/2543 จำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ถึงแม้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยที่ 4 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าทนายความทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยปราศจากอำนาจ และฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินอันเป็นมูลหนี้เดิมของคดีแพ่งดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยทั้งสี่จึงเป็นหนี้โจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้เดิม โดยมียอดหนี้ค้างชำระถึงวันฟ้องจำนวน 17,310,366.28 บาท สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่ามีที่ดิน 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 11 รายการ รวมราคา 23,815,000 บาท นั้น ปรากฏว่ารายงานดังกล่าวประเมินราคาที่ดินสูงถึงไร่ละ 3,000,000 บาท ในขณะที่ประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างโดยหักค่าเสื่อมในอัตราที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 1 ต่อปี โดยไม่มีหลักเกณฑ์อ้างอิง จึงมีน้ำหนักน้อย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนให้ข้ออ้างดังกล่าวมีน้ำหนักที่มั่นคง ข้ออ้างเกี่ยวกับราคาทรัพย์สินตามที่จำเลยที่ 3 นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ประกอบกับทรัพย์สินดังกล่าวติดจำนองเจ้าหนี้อื่นโดยยังมีภาระหนี้จำนอง 7,348,120.89 บาท กับดอกเบี้ย 1,064,043.19 บาท เมื่อหักหนี้จำนองแล้วมูลค่าทรัพย์สินที่เหลือย่อมไม่พอชำระหนี้โจทก์ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 60955 ถึง 60960 ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ที่โจทก์นำยึดไว้มีราคาประเมินเพียง 2,254,600 บาท รวมแล้วไม่พอชำระหนี้ทั้งหมด จำเลยที่ 4 นำสืบถึงรายได้โดยเพียงมีสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2551 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 4 มีเงินได้สุทธิ 2,836,345.80 บาท มาแสดง แต่เอกสารดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่นำสืบว่ามีทรัพย์สินอื่นใดอีก พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 87 ประกอบด้วยมาตรา 84
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จัดการทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 87 ประกอบด้วยมาตรา 84 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ