คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1329/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 นายอำเภอมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ออกไปพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินได้และให้เจ้าหน้าที่นั้นเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ป.เป็นลูกจ้างซึ่งนายอำเภอนางรองมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนสิทธิและการทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ ป.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานตามที่กฎหมายบัญญัติ
ที่ดินของจำเลยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่แล้ว ต่อมาจำเลยขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศสำหรับที่ดินแปลงนั้นให้แก่จำเลยอีก โดยจำเลยแจ้งต่อ ป.เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนที่นายอำเภอแต่งตั้งดังกล่าวข้างต้นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่เคยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาก่อน ทางราชการจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย แม้ภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์จะสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวเพราะเหตุจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็เห็นได้ว่าเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจึงมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินของตนอยู่แล้ว ได้แจ้งความเท็จว่าที่ดินของตนยังไม่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ขอให้ทางราชการออกให้และทางราชการได้ออกให้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ จำคุก ๑ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินของจำเลย ๑ แปลงตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) แล้ว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑ ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยขอให้ทางราชการออกหรังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศสำหรับที่ดินนั้นให้แก่จำเลยอีก โดยจำเลยแจ้งต่อนางสาวปานจิต – เจ้าหน้าที่พิสูจน์สอบสวนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่เคยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาก่อน ทางราชการจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) ให้แก่จำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๕,จ.๖,จ.๗ คดีมีปัญหาว่า การที่จำเลยแจ้งต่อนางสาวปานจิตดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
ในเบื้องแรกสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่านางสาวปานจิตเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายประพิศ ศิริ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอนางรองในขณะเกิดเหตุว่า ในการสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศนั้นมีเจ้าหน้าที่ไม่พอแก่การปฏิบัติงาน กรมที่ดินได้จ้างบุคคลภายนอกเป็นลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงาน นางงสาวปานจิตเป็นลูกจ้างซึ่งนายอำเภอนางรองมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว ตามข้อเท็จจริงที่นายอำเภอนางรองมีคำสั่งแต่งตั้งนางสาวปานจิตให้ปฏิบัตหน้าที่ดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๘ ซึ่งบัญญัติให้นายอำเภอแต่งตั้งผู้ได้รับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ออกไปพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินได้ และให้เจ้าหน้าที่นั้นเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้ นางสาวปานจิตจึงเป็นเจ้าพนักงานตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีที่ดินรวม ๑๕ แปลง แต่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓)เพียงหนึ่งหรือสองแปลงเท่านั้น จำเลยแจ้งข้อความดังกล่าวต่อนางสาวปานจิตด้วยความหลงลืม จำเลยไม่มีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จนั้นเห็นว่า จำเลยเคยเป็นครูใหญ่ สมาชิกสภาเทศบาล เทศมนตรี สมาชิกและรองประธานสภาจังหวัดบุรีรัมย์มาก่อน ส่วนที่ดินแปลงที่จำเลยแจ้งต่อนางสาวปานจิตขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศนั้นปรากฏว่า เดิมเป็นที่ดินของนางหุ่น จรเข้ มีหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) อยู่แล้ว ตามเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งปรากฏรายการจดทะเบียนด้านหลังว่า วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๒ นางหุ่น จรเข้ ขายที่ดินนั้นทั้งแปลงแก่จำเลย วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๘ จำเลยแบ่งเวนคืนให้กรมทางหลวงเพื่อใช้เป็นทางสายโชคชัย – เดชอุดม เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๒๘ ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖ จำเลยแจ้งข้อความตามฟ้องแก่นางสาวปานจิตและนำนายอุดม ทิพย์อาสน์ ผู้กำกับงานสนามทำการสำรวจรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ก) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ ครั้นทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) ให้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖, จ.๗ แล้ว จำเลยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) ตามเอกสารหมาย จ.๕, จ.๗ ไปจำนองไว้กับธนาคาร ต่อมาวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๒๕ จำเลยแบ่งขายที่ดินดังกล่าวแก่เรือตรีบุญธรรมโดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) ฉบับเดิมตามเอกสารหมาย จ.๑ ไปให้เจ้าพนักงานจดทะเบียนแบ่งแยก และใน พ.ศ.๒๕๒๖ จำเลยแบ่งขายที่ดินนั้นแก่เรือตรีบุญธรรมอีกเป็นครั้งที่ ๒ โดยนำหนังสือรับรองการประโยชน์ (น.ส.๓) ตามเอกสารหมาย จ.๑ ไปให้เจ้าหน้าที่ทำการจดทะเบียน เจ้าหน้าที่จึงตรวจพบว่าจำเลยแจ้งข้อความต่อนางสาวปานจิตไม่ตรงกับความเป็นจริงตามฐานะและพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยเคยรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ และเคยดำเนินการทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เอกสารหมาย จ.๑ มาก่อนเกิดเหตุคดีนี้หลายครั้ง ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศและแจ้งต่อนางสาวปานจิตว่าเป็นที่ดินที่ใม่เคยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาก่อน เราะความหลงลืมจึงเชื่อไม่ได้ ตามข้อเท็จจริงข้างต้นเชื่อว่าจำเลยแจ้งข้อความดังกล่าวต่อนางสาวปานจิตโดยรู้ว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความดังกล่าวต่อนางสาวปานจิตจนทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) ตามเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖, จ.๗ ให้จำเลย ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้สั่งเพิกถอนแล้ว จึ่งไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายนั้น เห็นว่าการที่นางสาวปานจิตและเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการไปตามคำขอของจำเลย จนทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก) ตามเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖, จ.๗ ให้จำเลย แต่ในที่สุดผู้ว่าราชการบุรีรัมย์ต้องสั่งเพิกถอนก็เพราะเหตุจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังนี้เห็นว่าได้เกิดความเสียหายขึ้นแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share