แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าคำเบิกความของพยานปากใดมีเหตุผลหรือมีน้ำหนักควรเชื่อถือหรือไม่เพียงใด เป็นดุลพินิจในการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลจำเลยจะอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ ว่าไม่มีใบรับรองแพทย์ เพราะมิได้ไปหาแพทย์เนื่องจากไม่มีเงิน แล้ววินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ขาดงานเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันเพราะโจทก์เจ็บป่วยนั้น แม้โจทก์จะไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และถือไม่ได้ว่าเป็นการขาดงานเป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)(4) ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนี้แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อเลิกจ้าง จำเลยก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย6,300 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,260 บาท ค่าจ้างค้างชำระ 420 บาท เงินประกันการเข้าทำงาน 200 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เบิกความขาดเหตุผล คำเบิกความของโจทก์ที่ว่าการที่โจทก์มิได้ไปทำงานตามปกติตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2528ถึงวันที่ 7 กันยายน 2528 เป็นเพราะโจทก์เจ็บป่วยนั้น ศาลไม่ควรรับฟังและควรรับฟังตามคำเบิกความของนางระเบียบ เทพเทียนทัศน์พยานจำเลยซึ่งเบิกความว่าในวันที่ 5 กันยายน 2528พยานได้เห็นโจทก์ขับรถเครื่องผ่านไปทางปากซอยโรมันจึงแสดงว่าโจทก์มิได้เจ็บป่วยแต่อย่างใด
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาที่ว่าคำเบิกความของพยานปากใดมีเหตุผลหรือมีน้ำหนักควรเชื่อถือหรือไม่ เพียงใด เป็นดุลพินิจในการพิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าคำเบิกความของโจทก์มีเหตุผลหรือมีน้ำหนักควรเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลย และนำมาประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแล้วจำเลยจะอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางหาได้ไม่ เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ชี้แจงเหตุของการไม่สามารถหาใบรับรองของแพทย์มาแสดงต่อหัวหน้างานได้ว่าเป็นเพราะโจทก์ไม่มีเงินนั้นเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน เพราะตามสำนวน ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ไม่สามารถหาใบรับรองของแพทย์มาแสดงต่อจำเลยตามที่จำเลยได้แจ้งให้ทราบแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 6.2, 6.3 แล้ว
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ แต่ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ชี้แจงเหตุของการไม่สามารถไปหาแพทย์ได้ว่าเป็นเพราะโจทก์ไม่มีเงินซึ่งเป็นคนละกรณีกัน อย่างไรก็ตาม ที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้ก็โดยรับฟังจากคำเบิกความของโจทก์ซึ่งเบิกความตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 11 เดือนเดียวกันนางระเบียบหัวหน้างานได้สอบถามโจทก์ว่า มีใบแพทย์หรือไม่ โจทก์ตอบว่ามีใบเดียวคือใบรับรองของแพทย์ประจำวันที่ 9 กันยายน 2528ส่วนวันนอกนั้นไม่มี เพราะโจทก์มิได้ไปหาแพทย์ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีเงิน ฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือโดยปราศจากพยานหลักฐานและเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นแล้ว ศาลแรงงานกลางก็เพียงแต่วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันเพราะโจทก์เจ็บป่วยนั้น แม้โจทก์จะไม่มีใบรับรองของแพทย์มาแสดง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และถือไม่ได้ว่าเป็นการขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3),(4) ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย มิใช่วินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเสียเลย เมื่อการกระทำผิดของโจทก์ไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3),(4) แล้ว แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจำเลยก็ไม่ได้รับยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน