คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ได้สั่งของต้องห้ามจากต่างประเทศแทนจำเลย ที่ 1 โดยมิได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการก่อน แม้จะอ้างว่าสำคัญผิดว่า ของที่สั่งมานั้น ไม่ใช่ของต้องห้าม ก็ยังคงต้องมีความผิด กรณีเช่นนี้ถือว่าจำเลยทั้งสอง เป็นผู้ร่วมกันกระทำผิด
ทัพพีแม้ จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ จากเครื่องจักร ก็อยู่ในความหมายว่า เป็นสิ่งหัตถกรรมการความหมายในประกาศของกระทรวงเศรษฐการ ลงวันที่ 14 กันยายน 2498 ข้อ 10 อันจำต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวง เศรษฐการเสียก่อน จึงจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 20/2503)

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ ถึง ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๙ จำเลยที่ ๒ ในนามของจำเลย ที่ ๑ ได้สั่งซื้อทัพพีซึ่งทำด้วยโลหะอลูมิเนียมจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตของกระทรวงเศรษฐการ จำนวน ๑๔,๔๐๐ อันราคา ๘,๕๔๑ บาท ๔๗ สตางค์ จริง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ของกลางไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๙ ซึ่งแก้ไขแล้ว ปรับจำเลยคนละ ๕ เท่าราคาสินค้า คิดเป็นเงินคนละ ๔๒,๗๐๗ บาท ๓๕ สตางค์ จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ เดือน คำรับของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คนละกึ่ง คงปรับจำเลยคนละ ๒๑,๓๕๓ บาท ๖๘ สตางค์ จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้ ๑๕ วัน เฉพาะโทษจำให้ยก ของกลางริบ
แต่มีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายกฟ้องเพราะสินค้าที่ควบคุมตามประกาศกระทรวงเศรษฐการลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๙๘ ดังสำเนาท้ายฟ้องหมายถึงสิ่งหัตถกรรมซึ่งทำด้วยมือ ไม่ใช่ทำด้วยเครื่องจักร ตามท้องสำนวนโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นได้เลยว่า ทัพพีของกลางเป็นสิ่งหัตถกรรม และเมื่อพิเคราะห์ดูของกลางแล้วพึงเห็นได้ว่า เป็นของที่ทำด้วยเครื่องจักร ไม่ใช่สิ่ง ของที่ทำด้วยมือจำเลยจึงไม่ควรมีความผิดตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า
(๑) ถ้าทัพพีของกลางเป็นสิ่งหัตถกรรมอันจำต้องรับอนุญาต แต่จำเลยได้สั่งเข้ามาโดยสำคัญผิดคิดว่า ไม่ใช่ของที่ต้องขอรับอนุญาตก่อน จำเลยจะพ้นผิดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๘ และ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖ ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิต้องคำนึงว่า ผู้ทำมีเจตนาหรือประมาทเลินเล่อ จึงเลยจึงต้องมีความผิด
(๒) การที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการสั่งสินค้าดังกล่าวในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จะมีความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โดยปกตินิติบุคคลจะกระทำการใด ๆ ด้วยตนเองหาได้ไม่ ต้องมีกรรมการบริหารกิจการแทน เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้บริหารกิจการโดยสั่งซื้อสินค้ารายนี้ในนามของจำเลยที่ ๑ โดยมิได้รับอนุญาตอันเป็นการผิดกฎหมายจำเลยที่ ๒ ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ร่วมกระทำผิดรายนี้ด้วย
(๓) ทัพพีของกลางเป็นสิ่งหัตถกรรม อันจำต้องขออนุญาต เพื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศกระทรวงเศรษฐการ ฯลฯ หรือไม่
ในปัญหาข้อ (๓) นี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ทัพพีของกลางรายนี้ แม้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์จากเครื่องจักร ก็อยู่ในความหมายว่า เป็นสิ่งหัตถกรรม ตามความหมายในประกาศของกระทรวงเศรษฐการท้ายฟ้อง อันจำต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐการเสียก่อน เพื่อการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share