คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวเป็นผู้ช่วยในการทำหน้าที่ของจำเลยในการเป็นวุฒิสมาชิก ค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวก็เพื่อช่วยเหลือการทำหน้าที่ของจำเลยอันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่จำเลย จำเลยเป็นผู้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวให้โจทก์แต่งตั้ง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการเป็นวุฒิสมาชิกตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์
คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งมามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีมติเอกฉันท์ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษใหม่แทนจำเลย ทำให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) จะยึดอำนาจการปกครองและประกาศฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดโดยไม่มีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) หรือกฎหมายฉบับใดหลังจากนั้นบัญญัติห้ามมิให้ โจทก์เรียกคืนเงินดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 145 (3) (4) และมาตรา 147 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10 (7) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 95 (1) ทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ากรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย จึงมีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนจำเลย ตามคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงฟังได้ว่าการที่จำเลยออกจากตำแหน่งวุฒิสภาก็เพราะเหตุที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะมีส่วนรู้เห็นกับการให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลยหรือไม่ และแม้ว่าศาลจังหวัดศรีสะเกษพิพากษายกฟ้องบุคคลที่ถูกกล่าวว่าให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย ก็ไม่เป็นเหตุให้การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
การเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่วุฒิสมาชิกได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 1,757,475.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,703,229.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,756,425.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,703,229.82 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,105,707.15 บาท พร้อมดอกเบี้ย (ที่ถูก พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี) ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยาน ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องและคำให้การว่า จำเลยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษ โดยประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกหนังสือรับรองให้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 จำเลยปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2544 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษใหม่แทนจำเลยเนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยได้รับเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จำเลยต้องพ้นจากสมาชิกภาพวุฒิสภาตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรียกเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าใบเบิกทาง เบี้ยประกันสุขภาพ และค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลยซึ่งโจทก์จ่ายแทนไปแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,757,475.76 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดคืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม เบี้ยประกันกรรมธิการ ค่าใบเบิกทาง และเบี้ยประกันสุขภาพ รวม 1,105,707.15 บาท ส่วนค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลยนั้นไม่ต้องรับผิดคืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานประจำตัวแก่โจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญและค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลยนั้น จำเลยเป็นผู้เสนอและโจทก์เป็นผู้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลยไม่มีสถานะเป็นข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองและไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย เมื่อพ้นหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนจากโจทก์ แต่ค่าตอบแทนดังกล่าวมีลักษณะเป็น “ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น” ที่จำเลยได้รับเนื่องมาจากการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามความหมาย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์ด้วย เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวเป็นผู้ช่วยในการทำหน้าที่ของจำเลยในการเป็นวุฒิสมาชิก ค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวก็เพื่อช่วยเหลือการทำหน้าที่ของจำเลยอันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่จำเลย จำเลยเป็นผู้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวให้โจทก์แต่งตั้ง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการเป็นวุฒิสมาชิกตามความหมายของมาตรา 97 แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าใบเบิกทาง และเบี้ยประกันสุขภาพ รวม 1,105,707.15 บาท แก่โจทก์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งมามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีมติเอกฉันท์ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษใหม่แทนจำเลย ทำให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) จะยึดอำนาจการปกครองและประกาศฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดโดยไม่มีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) หรือกฎหมายฉบับใดหลังจากนั้นบัญญัติห้ามมิให้โจทก์เรียกคืนเงินดังกล่าว ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อีกทั้งศาลจังหวัดศรีสะเกษพิพากษายกฟ้องบุคคลที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวหาว่าให้เงินจูงใจแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเสียงให้แก่จำเลยแล้วนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 145 (3) (4) และมาตรา 147 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10 (7) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 95 (1) ทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า กรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย จึงมีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนจำเลย ตามคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงฟังได้ว่าการที่จำเลยออกจากตำแหน่งวุฒิสภาก็เพราะเหตุที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะมีส่วนรู้เห็นกับการให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลยหรือไม่ และแม้ว่าศาลจังหวัดศรีสะเกษพิพากษายกฟ้องบุคคลที่ถูกกล่าวว่าให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย ก็ไม่เป็นเหตุให้การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า คดีขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี นั้น เห็นว่า การเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่วุฒิสมาชิกได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ค่าใบเบิกทาง และเบี้ยประกันสุขภาพพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,703,229.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share