คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกของกลาง ซึ่ง มีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ทางราชการกำหนดถึง 5,800 กิโลกรัม มาเดิน บนทางหลวงแผ่นดิน นอกจากจะทำความเสียหายแก่ทางสัญจรไปมาของประชาชน ทำให้ต้อง สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการบูรณะซ่อมแซม อันมีผลเป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติโดย ส่วนรวมแล้วก็ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อ ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นอีกด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึง ความสูญเสียที่จะเกิดตาม มา จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลย และไม่มีเหตุที่จะไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่จำเลยใช้ กระทำความผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56, 83ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ได้กำหนดเดินบนทางหลวงแผ่นดิน ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2519 ข้อ 4 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 92, 93, 151 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91และขอให้ริบของกลางด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท ฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุก 2 เดือนปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 4 เดือน ปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางยังไม่สมควรริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราไม่รอการลงโทษให้และไม่ปรับให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาในชั้นนี้ เฉพาะความผิดฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย และมีเหตุที่จะไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกของกลางซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่ทางราชการกำหนดถึง 5,800 กิโลกรัมมาเดินบนทางหลวงแผ่นดิน นอกจากจะทำความเสียหายแก่ทางสัญจรไปมาของประชาชน ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการบูรณะซ่อมแซมอันมีผลเป็นการทำลายเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวมแล้ว ก็ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นอีกด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียที่จะเกิดตามมาจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษให้จำเลย และไม่มีเหตุที่จะไม่ริบรถยนต์บรรทุกของกลางที่จำเลยใช้กระทำความผิด…”
พิพากษายืน.

Share