คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีอายุ 50 ปี ยื่นหนังสือลาออกจากงานต่อจำเลย มีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (โจทก์) มีความประสงค์ขอลาออกจากงานเพื่อขอรับเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ข้าพเจ้า เต็มตามสิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานธนาคารมาด้วยดีจนอายุครบ 55 ปี” คำว่า “สิทธิของพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนอายุครบ 55 ปี”นั้น เมื่อตามคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่อง กำหนดระยะเวลาจ้าง ตลอดจนกำหนดการจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทน ข้อ 9 มีข้อความว่าพนักงานชายอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และพนักงานหญิงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป หากกรรมการผู้จัดการใหญ่พิจารณาเห็นว่าสมควรอนุมัติให้ในกรณีพิเศษให้ลาออกเพื่อรับค่าชดเชยก็อาจทำได้ แต่ทั้งนี้ให้คำนวณค่าชดเชยตามข้อ 13.2 และตามข้อ 13.2 การจ่ายค่าชดเชย ให้คำนวณจ่ายให้เท่ากับเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วยปีที่ทำงาน ดังนั้น พนักงานชายที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่มีสิทธิพิเศษได้รับค่าชดเชยตามข้อ 9 นี้ ส่วนพนักงานชายที่มีอายุยังไม่ครบ 55 ปี แต่ปฏิบัติงานมานานเช่นโจทก์ในคดีนี้เมื่อลาออกจากงานจะได้รับค่าชดเชยตามข้อ 10 คือเท่ากับเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน หารด้วยสอง ทำให้ค่าชดเชยลดลงกึ่งหนึ่งการที่โจทก์ระบุข้อความไว้ในหนังสือลาออกทำนองว่า ขอให้โจทก์ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานมาจนมีอายุ 55 ปีดังกล่าว ก็เพื่อหวังผลให้ตนได้รับประโยชน์จากการคำนวณค่าชดเชย อันเป็นการอิงสิทธิของพนักงานที่มีคุณสมบัติตาม ข้อ 9 เท่านั้นหามีความหมายนอกเหนือไปจากนี้ไม่ ที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกจากงานโดยยินยอมตามเงื่อนไขในหนังสือลาออกของโจทก์ จึงเป็นคุณแก่โจทก์เท่าที่ระเบียบข้อบังคับของจำเลยจะเอื้อให้
เมื่อข้อความในหนังสือลาออกของโจทก์มีความชัดเจนในตัวและมีความหมายเป็นนัยเดียวไม่อาจแปลความเกินเลยไปถึงว่าจำเลยยังมีหน้าที่ต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่โจทก์เรียกร้องข้างต้นโดยคำนวณจนถึงโจทก์มีอายุครบ 55 ปี ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องนอกเหนือจากข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือลาออกอีก ดังนั้น ที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อ 9จึงเป็นการชอบแล้ว

Share