คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13244/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ต้องการให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการกำหนดจ่ายค่าจ้าง เมื่อนายจ้างลูกจ้างตกลงกันให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่ากำหนดดังกล่าวก็ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ข้อตกลงว่าหากมีการเลิกจ้างจำเลยที่ 8 ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 3 เดือน แต่จำเลยที่ 8 บอกเลิกจ้างในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างเพียง 2 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือน 28 วัน
แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินที่เรียกจากมูลกฎหมายที่แตกต่างกันมาในคราวเดียวกันได้ก็ตามแต่เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบ
การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอาศัยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินโจทก์ก็นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดชำระเงิน 100,931,637 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 98,109,316 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จำเลยที่ 8 ฟ้องแย้ง ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 3,561,426 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 8
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 8 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 8
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ร่วมกันจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 17,060 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยหักเงินจำนวน 395,714 บาท ออกเสียก่อน จ่ายค่าขนส่งสัมภาระจำนวน 18,000 บาท จ่ายค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจำนวน 1,034 ดอลลาร์สิงคโปร์ จ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 119,420 ดอลลาร์สิงคโปร์ และจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานจำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ทุกยอดเงิน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ร่วมกันจ่ายค่าชดเชยจำนวน 136,480 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยหักเงินจำนวน 3,165,712 บาท ออกเสียก่อน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน แต่จำเลยที่ 9 ถึงที่ 11 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 8 คำขออื่นของโจทก์ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยที่ 8 ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์เท่าใด เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสองที่ใช้บังคับบัญญัติว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน…” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวต้องการให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการกำหนดจ่ายค่าจ้าง ดังนั้นเมื่อนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่ากำหนดดังกล่าวก็ย่อมทำได้ ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน เมื่อไม่แจ้งก็ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 3 เดือน ให้แทน จำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ได้ให้การปฏิเสธไว้ และศาลแรงงานกลางรับฟังว่า เป็นเอกสารที่ทำขึ้นในนามจำเลยที่ 8 เรื่องการไปปฏิบัติงานที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ที่ส่งถึงโจทก์ โดยระบุว่าไม่สามารถที่จะให้สัญญาในตำแหน่งหุ้นส่วน แสดงว่าโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 8 และเอกสารดังกล่าวระบุการเลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้า 3 เดือน ข้อเท็จจริงจึงยุติว่าหากมีการเลิกจ้างจำเลยที่ 8 กำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 3 เดือน การที่จำเลยที่ 8 บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างมีผลเพียง 2 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือน 28 วัน เป็นเงิน 50,042 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ทั้งนี้ให้นำเงินจำนวน 395,714 บาท ที่จำเลยที่ 8 ชำระเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์มาหักออกเสียก่อน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 8 จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 1 เดือน โดยหักเงินจำนวน 395,714 ออกเสียก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ข้อแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 จ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานให้แก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวนหนึ่งและค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานอีกจำนวนหนึ่ง โดยในส่วนค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโจทก์บรรยายฟ้องว่าหากโจทก์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหุ้นส่วนจากจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 แล้วโจทก์จะได้ผลประโยชน์จากการทำงานร้อยละ 10 ต่อปี ของรายได้ ขอเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงาน 87,500,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้ศาลแรงงานกลางไม่ได้นำเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์กล่าวอ้างมาวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเพียงว่าเมื่อจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์และที่โจทก์เรียกค่าเสียหายมา 87,500,000 บาท สูงเกินส่วน จึงกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงินจำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งที่ศาลแรงงานกลางได้กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์แล้ว 119,420 ดอลลาร์สิงคโปร์ ดังนี้แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินที่เรียกจากมูลกฎหมายที่แตกต่างกันมาในคราวเดียวกันได้ก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 จึงไม่จำต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ แก่โจทก์อีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 8 และที่ 11 ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ข้อต่อมาว่าการที่โจทก์ฟ้องขอให้ชำระเป็นเงินไทยแต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ชำระเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราเดือนสุดท้ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าย่อมอาศัยฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์คำนวณจ่ายเงินทั้งสองประเภทดังกล่าว และการจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่โจทก์มีสิทธิได้รับนั้นโจทก์นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ศาลแรงงานกลางจึงวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานจำนวน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ร่วมกันจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50,042 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยหักเงินจำนวน 395,714 บาท ออกเสียก่อน หากจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 จะขอชำระเป็นเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตรา 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 23.62 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยจำนวนค่าชดเชยต้องไม่เกิน 58,344 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องของค่าชดเชยต้องไม่เกิน 1,678 บาท ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินต้องไม่เกิน 24,423 บาท ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องของค่าบัตรโดยสารเครื่องบินต้องไม่เกิน 702.50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share