คำวินิจฉัยที่ 44/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คำว่า”หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด”ต้องเป็นหน้าที่ในทางปกครองหรือหน้าที่ในการใช้อำนาจทางปกครอง มิใช่การกำหนดหน้าที่ในทางแพ่งเช่นเดียวกับหน้าที่ของเอกชนทั่วไป เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นอ้างว่าการที่ต้นไม้บริเวณข้างทางซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีหักโค่นล้มทับรถยนต์ซึ่งผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้นั้น เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ใช้ความระมัดระวังบำรุงและดูแลรักษาค้ำจุนต้นไม้ให้มีความแข็งแรง เมื่อเกิดเหตุฝนตกและลมพัดแรง ต้นไม้ล้มลงมาทับรถยนต์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่ ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายเช่นนั้นซึ่งเป็นความรับผิดเพื่อละเมิดจากความบกพร่องในหน้าที่ทั่วไปของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตลอดถึงการค้ำจุนต้นไม้ มิใช่หน้าที่ในทางปกครองการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่การละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อละเมิด ตามมาตรา ๔๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุและได้ชำระค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยไปแล้วจึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิดซึ่งเป็นฐานแห่งการรับช่วงสิทธิของผู้ฟ้องคดีคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๔/๒๕๕๙

วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงดอนเมือง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด อำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้ง เขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่อง เขตอำนาจศาลในคดีนี้

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๗๙๕/๒๕๕๘ ความว่าผู้ฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยทุกชนิด และเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน ฒถ-๗๘๓๖ กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาววิภา นิรนาทล้ำพงศ์ ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗ซึ่งอยู่ระหว่างอายุการคุ้มครองตามสัญญากรมธรรม์ นายอารมณ์ จำปา ได้ขับรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้เข้าไปในซอยวิภาวดีรังสิต ๖๒ ถนนวิภาวดีรังสิตจากปากซอยมุ่งหน้าด้านท้ายซอย ปรากฏว่าต้นไม้ที่ปลูกเรียงกันบริเวณข้างทางซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีได้หักโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ใช้ความระมัดระวังบำรุงรักษาต้นไม้ โดยปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ไม่ตัด

แต่งบำรุงค้ำจุนต้นไม้ให้แข็งแรง ขณะเกิดเหตุมีฝนตกและลมพัดแรงต้นไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณทางเท้าจึงล้มลงมาทับรถยนต์ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน ๗๐,๒๒๖.๔๘ บาท จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดในความ เสียหายดังกล่าว ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน ๗๔,๐๗๘.๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การที่ต้นไม้หักโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยนั้น เกิดจากภัยธรรมชาติ กล่าวคือ มีพายุฝนตกหนักและลมกรรโชกแรง อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจควบคุม และป้องกันได้ ภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีพร้อมเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าได้ออกสำรวจ ซอยวิภาวดีรังสิต ๖๒ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ มีต้นไม้ล้ม ๓๕ ต้น และ ต้นไม้ล้มทับรถยนต์กระบะ ๑ คัน ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตหลักสี่ให้จัดทำแผนการตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้าปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่ได้ดำเนินการและแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบแล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ใช้ความระมัดระวังบำรุงรักษาและดูแลค้ำจุนต้นไม้ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ความเสียหายดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องการจัดให้มีและบำรุงรักษา ทางบก ทางน้ำ ทางระบายน้ำ และการดูแลรักษาที่สาธารณะตามมาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง (๖) และ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ และมาตรา ๑๘ ประกอบมาตรา ๑๖ (๒) และ (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการบำรุงดูแลรักษาต้นไม้บริเวณถนนสาธารณะให้มีความมั่งคงแข็งแรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย อย่างเพียงพอแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดี ละเลยต่อหน้าที่บำรุงดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกเรียงกันบริเวณข้างทางในซอยวิภาวดีรังสิต ๖๒ ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นเหตุให้ต้นไม้หักโค่นล้มทับรถยนต์คันที่ ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยได้รับความเสียหายหลายรายการ ผู้ฟ้องคดีจึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ผู้เอาประกันภัยตามกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด

ของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแขวงดอนเมืองพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีงดเว้นหรือละเลยไม่บำรุงและดูแลต้นไม้ที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีความแข็งแรง เมื่อมีฝนตกหนักและลมพัดแรงจึงหักโค่นทับรถยนต์ของผู้เอาประกันภัยนั้น เหตุละเมิดจึงหาได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงาน ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
เห็นว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามบทบัญญัตินี้ คำว่า”หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด”ต้องเป็นหน้าที่ในทางปกครองหรือหน้าที่ในการใช้อำนาจทางปกครอง มิใช่การกำหนดหน้าที่ในทางแพ่งเช่นเดียวกับ หน้าที่ของเอกชนทั่วไป เนื่องจากศาลปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราช

บัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุฟ้องอ้างว่า การที่ต้นไม้บริเวณข้างทางซึ่งอยู่ในความดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีหักโค่นล้มทับรถยนต์ซึ่งผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้นั้น เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ใช้ความระมัดระวังบำรุงและดูแลรักษาค้ำจุนต้นไม้ให้มีความแข็งแรง เมื่อเกิดเหตุฝนตกและลมพัดแรง ต้นไม้ล้มลงมาทับรถยนต์ได้รับความเสียหายจึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายเช่นนั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นการฟ้องให้รับผิด ตามมาตรา ๔๓๔ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นความ รับผิดเพื่อละเมิดจากความบกพร่องในหน้าที่ทั่วไปของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตลอดถึงการค้ำจุนต้นไม้ มิใช่หน้าที่ในทางปกครอง การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวจึงมิใช่การละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครอง คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิด จากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อละเมิด ตามมาตรา ๔๓๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ คันเกิดเหตุและได้ชำระค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยไปแล้วจึงอยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีละเมิด ซึ่งเป็นฐานแห่งการรับช่วงสิทธิของผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดีกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share