แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควรจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งการใช้ดุลพินิจดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จำเลยไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสายหยุด หนันทุม และนายพาส หนันทุม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน2505 จำเลยได้เช่าที่ดินโฉนดเลจที่ 4777 ตำบลสามเสนในฝั่งเหนืออำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์สินมรดกของนางสายหยุดและนายพาสบางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางวา จากนางสายหยุดเพื่อปลูกบ้านเลขที่ 633 อยู่อาศัย โดยเสียค่าเช่าให้แก่นางสายหยุดเดือนละ 40 บาท สัญญาเช่ามีกำหนด 1 ปี สัญญาเช่าครบกำหนดแล้วโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินดังกล่าวและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 2,500บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 633 และขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4777 ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์ทำการรื้อถอนได้เอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,500บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนออกไปเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยทำสัญญาเช่าที่ดินตามฟ้องจากนางสายหยุด ตามสัญญาเช่า ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2505 จริง สัญญาเช่าดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2511 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจากนางสายหยุดใหม่ โดยเสียค่าเช่าเดือนละ 64 บาท สัญญาเช่าไม่มีกำหนดอายุการเช่า จำเลยไม่เคยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่า โจทก์บอกเลิกการเช่าตามสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2505 จึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
ก่อนชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องอ้างว่า จากคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยปรากฏว่ายังมีหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับใหม่ขึ้นอีกนอกเหนือจากที่โจทก์ตรวจพบก่อนยื่นฟ้องศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเกี่ยวกับคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์จำเลยจำเลยคัดค้านว่า โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอาศัยข้อต่อสู้ของจำเลยมาเป็นเหตุถอนฟ้องถ้าโจทก์ฟ้องคดีเข้ามาใหม่โดยอาศัยเหตุที่จำเลยต่อสู้คดีไว้ในคดีเดิม จะทำให้จำเลยเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์แล้วดำเนินคดีไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว อนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสองพันบาท ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ถอนฟ้องเมื่อทราบข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมีสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2511 อีกฉบับหนึ่งมิใช่สัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2505 ที่โจทก์อ้างเป็นเหตุในการฟ้องขับไล่จำเลยในคดีนี้ เพื่อที่โจทก์จะอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าฉบับหลังมาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่อันเป็นผลเสียหายทางคดีจำเลยศาลชั้นต้นไม่ควรให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น เห็นว่า การอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาลตามที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย’
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย.