คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13219/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำกันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรม การกู้ยืมเงินต่อกัน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง และสัญญาร่วมลงทุนที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์เป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้” คำว่าตราสารดังกล่าวหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน ไม่ได้หมายรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น เมื่อสัญญาร่วมลงทุนนี้มีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ไป แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เมื่อใด โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 8,420,260.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 7,800,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมนั้นให้จำเลยทั้งสองใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เมื่อต้นปี 2548 โจทก์และจำเลยทั้งสองเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน โดยโจทก์จะให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินรวม 6,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 จะให้ดอกเบี้ยตอบแทนร้อยละ 30 ของเงินที่โจทก์ให้กู้ยืมเงิน เป็นเงิน 1,800,000 บาท ตกลงคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยรวม 7,800,000 บาท ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้ว ดอกเบี้ยดังกล่าวจะเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงตกลงทำสัญญากันในรูปสัญญาร่วมลงทุนเพื่ออำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงินต่อกันโดยสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวไม่ได้ติดอากรแสตมป์ โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 จำนวน 500,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งมอบให้อีกหลายงวด ซึ่งมอบให้ครบถ้วน 6,000,000 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2548 เมื่อสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาร่วมลงทุนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง กรณีคงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องกู้ยืมเงินที่ถูกอำพราง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จะรับฟังสัญญาร่วมลงทุนเอกสารที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวน จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้” คำว่าตราสารตามบทบัญญัติดังกล่าวในกรณีที่ใช้กับนิติกรรมการกู้ยืมเงินหมายความถึงหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่คู่สัญญาเจตนาแสดงออกว่าเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกัน แต่ไม่ได้หมายความรวมไปถึงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ถูกอำพรางไว้ในรูปสัญญาอื่น เพราะคู่สัญญาไม่ได้ต้องการที่จะแสดงออกอย่างเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินกันอยู่แล้ว หนังสือสัญญาในลักษณะเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามความหมายของคำว่าตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 คงเป็นได้เพียงหลักฐานเป็นหนังสือแสดงการกู้ยืมเงินเท่านั้น ซึ่งเมื่อในคดีนี้หนังสือสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวมีเนื้อความครบถ้วนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ 6,000,000 บาท แบ่งจ่ายแต่ละครั้งเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ตกลงที่จะคืนเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีก 1,800,000 บาท ให้แก่โจทก์ ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 โดยมีการลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ไว้ หนังสือสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน ที่ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าเป็นเพียงหลักฐานแห่งสัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาร่วมทุนดังกล่าวในสองฐานะ คือในฐานะของจำเลยที่ 1 พร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อข้างใต้ชื่อจำเลยที่ 1 โดยเขียนคำว่า “Personally Guaranteed” เหนือลายมือชื่อ และไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัท คำว่า “Personally Guaranteed” มีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า ค้ำประกันในฐานะส่วนตัว เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 คือชำระคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 ด้วยตนเอง และเป็นผู้ทำความตกลงด้วยตนเองทั้งหมด รู้เห็นข้อเท็จจริงทุกอย่างเป็นอย่างดี การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อใต้คำว่า “Personally Guaranteed” ไว้เช่นนี้ จึงชัดเจนว่าต้องการผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด ในฐานะส่วนตัวด้วย แม้สัญญาร่วมทุนจะตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่เมื่อถือว่าสัญญาร่วมทุนดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share