แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในนามของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุด ท. อาคาร 1, 2, 3 มิใช่ฟ้องในฐานะทำการแทนนิติบุคคล ขณะยื่นคำร้องขอนั้นผู้ร้องยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 เพื่อขอให้เพิกถอนการประชุม มติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้อง ทั้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครด้วย อันถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอได้ แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้พ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่ง และมิได้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุดอีกต่อไปแล้ว ทั้งปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่แทนผู้ร้องแล้ว ทั้งคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกในฐานะคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ให้ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้องและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างผู้ร้องเป็นการกระทำโดยชอบแล้วซึ่งผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 จึงถือว่าปัจจุบันผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจร้องขอของผู้ร้องจึงหมดลง ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขออีกต่อไป ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 เป็นเวลา 3 ปี และได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครแล้ว นายคุณาสิน ประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 ออกหนังสือถึงเจ้าของร่วมเชิญประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2546 โดยมีระเบียบวาระการประชุมในวาระที่ 2 เรื่องพิจารณาถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด วาระที่ 3 เรื่องพิจารณาแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แต่ในวันดังกล่าวมีเจ้าของร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม จึงไม่อาจดำเนินการประชุมได้ ต่อมานายคุณาสินได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 โดยมีวาระการประชุมเช่นเดียวกับการประชุมใหญ่ครั้งที่ 1 ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 นี้ มีเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุม 82 ห้องชุด และมีผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุม 184 ห้องชุด จากห้องชุดทั้งหมด 810 ห้องชุด คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 33.10 ที่ประชุมมีมติให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และแต่งตั้งนายศุภชัย เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแทน จากนั้นได้นำมติที่ประชุมใหญ่ไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 ประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ อำนาจในการเรียกประชุมเป็นของคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดและการส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ทั้งสองครั้ง มิได้ทำเป็นหนังสือลงทะเบียนส่งไปยังเจ้าของร่วมทุกคนก่อนวันนัดประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน อีกทั้งเสียงลงคะแนนของเจ้าของร่วมที่เข้าประชุมไม่ครบ 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงลงคะแนนทั้งหมด จึงไม่ครบองค์ประชุม ไม่อาจลงมติใด ๆ ได้ การประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 2) จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดอาศัยอำนาจตามข้อบังคับมีมติให้ผู้ร้องออกหรือพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 9 เมษายน 2546 แต่ผู้ร้องฝ่าฝืนไม่ยอมรับมติของคณะกรรมการ ต่อมาคณะกรรมการอาศัยอำนาจตามกฎหมายเรียกประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 29 มิถุนายน 2546 แต่องค์ประชุมไม่ครบคณะกรรมการจึงได้นัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 ในวันดังกล่าวมีเจ้าของร่วมเข้าประชุมทั้งสิ้น 1,897 อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ คิดเป็นร้อยละ 33.10 ที่ประชุมมีมติให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แล้วแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแทน และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ได้จดทะเบียนให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดโดยชอบแล้ว การนัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมและองค์ประชุมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้มีสถานะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแล้ว และคำร้องในคดีนี้เป็นคำร้องที่มีประเด็นข้อพิพาทว่า มติที่ประชุมเจ้าของร่วมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทและคู่ความเดียวกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 588/2546 ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล จึงเป็นคำร้องซ้อนต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุม ตามรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 2) ของนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนรายการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์อาคาร 1, 2, 3 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร กับให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 ได้ว่าจ้างผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2544 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ครบกำหนดวันที่ 19 มีนาคม 2547 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 คณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวได้มีมติยกเลิกสัญญาว่าจ้างผู้ร้อง ผู้ร้องจึงร่วมกับพวกเป็นโจทก์ฟ้องคณะกรรมการเพื่อเพิกถอนมติดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 588/2546 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีหนังสือเชิญเจ้าของร่วมประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ในวันที่ 29 มิถุนายน 2546 เพื่อพิจารณาเรื่องยกเลิกสัญญาถอดถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แต่เมื่อถึงวันนัดปรากฏว่าจำนวนเสียงของผู้เข้าร่วมประชุมไม่ถึง 1 ใน 3 จึงไม่ครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจึงมีมติให้กำหนดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 (ครั้งที่ 2) ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 โดยผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการดังกล่าวมีหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2546 เชิญเจ้าของร่วมเข้าประชุม เมื่อถึงวันนัดประชุม ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,897 อัตราส่วนกรรมสิทธิ์จากจำนวนอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ร่วมทั้งหมด 5,730 อัตราส่วนกรรมสิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 33.10 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากให้ถอดถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอในคดีนี้
เห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนเป็นประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในนามของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการของนิติบุคคลอาคารชุดไทยซุปเปอร์บิ๊กแลนด์ อาคาร 1, 2, 3 มิใช่ฟ้องในฐานะทำการแทนนิติบุคคลดังกล่าว โดยขณะยื่นคำร้องขอนั้นผู้ร้องยังอยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2547 เพื่อขอให้เพิกถอนการประชุม มติที่ประชุมและรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2546 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้อง ทั้งขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครด้วย อันถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้ แต่เมื่อขณะนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้พ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่ง และมิได้เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลอาคารชุดอีกต่อไปแล้ว ทั้งปรากฏว่ามีการแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดคนใหม่แทนผู้ร้องแล้ว ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 588/2546 ของศาลชั้นต้น ที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกในฐานะคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ให้ยกเลิกสัญญาจ้างผู้ร้องและให้ผู้ร้องพ้นจากการเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1117/2548 โดยวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างผู้ร้องของคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการกระทำโดยชอบแล้วซึ่งผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดและผูกพันผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จึงถือว่าปัจจุบันผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจร้องขอของผู้ร้องจึงหมดลง ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขออีกต่อไป ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามมาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ