แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์เห็นว่ามีพยานหลักฐานโจทก์แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 3 เดือน และปรับ 8,000 บาท แต่ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 371, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท เมื่อรวมโทษความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 4,100 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษและให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์มีผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยแทงผู้เสียหายโดยแรง และสถานีอนามัยไม่รับตัวผู้เสียหายไว้รักษาจนต้องส่งตัวผู้เสียหายไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอดคล้องกับรายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องและสำเนาบันทึกการรักษาผู้เสียหายของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ระบุว่าแผลยังไม่หายนั้น เห็นว่า เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส จำคุก 6 เดือน แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 3 เดือน และปรับ 8,000 บาท แต่ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์