คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ อันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้คดีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุซึ่งเป็นรถของ ช. และช.เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทจำเลยที่ 7 เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏไว้เลยว่า จำเลยที่1 ขับรถยนต์ของ ช. คันดังกล่าวในฐานะอะไร และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับ ช. จึงฟังไม่ได้ว่า ช. เจ้าของรถคันดังกล่าวมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อันจะเป็นเหตุให้ ช. ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ครั้งนี้ จำเลยที่ 7 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ ช. ต้องรับผิดชอบ เมื่อ ช.ไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 7 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาและเป็นทายาทโดยธรรมของ นายศุภโชค จำเลยที่ ๗ เป็นบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับประกันภัย เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ขับรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ลำปาง จำเลยที่ ๒ ได้ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ช.ม.ข.๑๕๕๒ ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๖ โดยขับจากโรงแรมปอยหลวงออกสู่ถนนเชียงใหม่ – ลำปาง จำเลยที่๑ และที่ ๒ ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ชนกับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ ๒ ทำให้รถยนต์ของจำเลยที่ ๑ เสียหลักพุ่งไปทางขวามือในเส้นทางเดินรถฝั่งตรงข้าม แล้วรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ได้ชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ช.ม.ก.๘๕๗๖ ซึ่งนายศุภโชค-เป็นเจ้าของและเป็นคนขับขี่ เป็นเหตุให้นายศุภโชคถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๗ ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ อันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย-ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินกิจการขนส่งแต่อย่างใด มิได้มีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยที่ ๓ และมิได้เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ ๕ ทั้งจำเลยที่ ๑ ก็มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๗ ให้การว่ายอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ ไว้จริง โดยมีเงื่อนไขความรับผิดว่า จะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย เพื่อความมรณะของบุคคลภายนอก ไม่เกินคนละ ๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกัน จำเลยที่ ๗ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถด้วยความประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นจำนวน ๕๘,๗๕๐ บาท โดยให้จำเลยที่ ๗ ร่วมรับผิดเป็นเงิน ๒๒,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๖ ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นจำนวน ๕๘,๗๕๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันละเมิด(๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓)จนถึงวันชำระเสร็จ ส่วนจำเลยที่ ๓ และคำขออื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๗ ร่วมรับผิดเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจน ถึงวันชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาชั้นต้น
จำเลยที่ ๗ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๗ ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ อันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ คดีได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ช.ม.๑๘๔๗๕ ซึ่งเป็นรถของนายชัยพรและนายชัยพรเอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัทจำเลยที่ ๗ เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ให้ปรากฏเลยว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ของชัยพรคันดังกล่าวในฐานะอะไร และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับนายชัยพร จึงฟังไม่ได้ว่านายชัยพรเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ อันเป็นเหตุให้นายชัยพรต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ครั้งนี้ จำเลยที่ ๗ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่นายชัยพรต้องรับผิดชอบ เมื่อนายชัยพรไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ ๗ ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๗ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share