คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13146/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าคู่ความต้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้และจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษหรือจะต้องมีเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้เช่นที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งว่า พฤติการณ์ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มิใช่พฤติการณ์พิเศษ จำเลยไม่ได้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์และไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย จึงไม่ถูกต้อง แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งใหม่ เมื่อเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยอ้างว่าเสมียนทนายจำเลยบกพร่อง ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานภาค 8 ซึ่งเหตุดังกล่าวทนายจำเลยสามารถตรวจสอบและแก้ไขด้วยการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดได้ แต่หาทำไม่ แสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยไม่เอาใจใส่ในคดี ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงไม่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ขาดงานโดยไม่มาทำงานให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานภาค 8 พิจารณา แล้วฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยเป็นฝ่ายเลิกจ้างโจทก์ หาใช่โจทก์ขาดงานไปเอง และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 ตุลาคม 2555) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 อ้างเหตุว่า จำเลยมีความประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 แต่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลายื่นอุทธรณ์จำเลยได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายไปยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ที่ศาลแรงงานภาค 8 แล้ว ซึ่งจำเลยได้สอบถามเสมียนทนายแล้วทราบว่าได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว แต่เมื่อจำเลยได้ติดตามคำสั่งด้วยตนเองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 จำเลยจึงทราบว่าไม่มีคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในสำนวนคดีและไม่สามารถติดต่อกับเสมียนทนายได้ ด้วยความจำเป็นและพฤติการณ์ความไม่รับผิดชอบของเสมียนทนายอันเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 4 สิงหาคม 2556
ศาลแรงงานภาค 8 พิจารณาแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ว่าเจ้าหน้าที่ศาลได้รับโทรศัพท์จากจำเลยสอบถามเกี่ยวกับการพิมพ์คำพิพากษาหลังวันอ่านคำพิพากษาประมาณ 3 ถึง 4 วัน และในวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ทนายจำเลยได้สอบถามเรื่องคำพิพากษาขณะศาลไปนั่งพิจารณาคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้ทนายจำเลยทราบว่าคำพิพากษายังไม่แล้วเสร็จ ให้ยื่นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เข้ามาก่อนและได้ตรวจสำนวนแล้วไม่ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แต่อย่างใด และมีคำสั่งว่า พฤติการณ์ตามคำร้องมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาให้ได้ เพราะจำเลยสามารถยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ได้ แต่หาได้กระทำไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่อ้างว่าเสมียนทนายจำเลยไม่ยื่นคำร้องก็เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยและหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นความบกพร่องของจำเลยเองที่ปล่อยปละละเลยไม่ติดตามเรื่อง ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 4 กรกฎาคม 2556 จำเลยยื่นอุทธรณ์ (ที่ถูกเป็นคำร้อง) วันนี้ (19 กรกฎาคม 2556) โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่เสมียนทนายจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานภาค 8 ตามที่ได้รับมอบหมาย โดยจำเลยไม่สามารถล่วงรู้พฤติกรรมอันไม่รับผิดชอบของเสมียนทนายจำเลยได้ เป็นความบกพร่องของบุคคลภายนอกมิใช่จากตัวจำเลยจึงเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระหว่างจัดเรียงคำพิพากษา ทำให้ไม่อาจคัดถ่ายคำพิพากษาและเอกสารอื่น ๆ เพื่อใช้ประกอบในการเรียงคำฟ้องอุทธรณ์เพื่อยื่นต่อศาลได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 บัญญัติเรื่องการขยายระยะเวลาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้ ซึ่งมาตรา 26 บัญญัติว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่ศาลแรงงานได้กำหนด ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หาได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าคู่ความต้องยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานก่อนสิ้นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้และจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษหรือจะต้องมีเหตุสุดวิสัยอันไม่อาจก้าวล่วงได้เช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งว่าพฤติการณ์ตามคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มิใช่พฤติการณ์พิเศษ จำเลยไม่ได้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์และไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยจึงไม่ถูกต้อง แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เสียเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งใหม่ เมื่อพิจารณาเหตุในการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าเสมียนทนายจำเลยบกพร่อง ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานภาค 8 ซึ่งเหตุดังกล่าวทนายจำเลยสามารถตรวจสอบและแก้ไขด้วยการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดได้แต่หาทำไม่ แสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยไม่เอาใจใส่ในคดี ถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเอง กรณีจึงไม่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share