คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1313/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจาก ค. ที่จำเลยนำสืบว่าการทำสัญญาจำนองไม่มีการมอบเงินกันเป็นการนำสืบหักล้างว่าการกู้เงินไม่สมบูรณ์ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้ายและที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้เช่าซื้อและนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ ค. ยึดถือไว้เป็นประกันเงินดาวน์เป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นที่มาแห่งมูลหนี้กู้ยืมและจำนองที่โจทก์ฟ้อง มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายคเณวุฒิ โรจน์อาภาศิริ ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2527 จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับนายคเณวุฒิเป็นเงิน 12,000 บาท และให้ถือเอาสัญญาจำนองเป็นหลักฐานในการกู้เงินด้วย จำเลยได้รับเงินจำนวน 12,000 บาทไปจากนายคเณวุฒิครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาจำนอง นับแต่วันทำสัญญาจำนองจนถึงวันฟ้องจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้แก่นายคเณวุฒิ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายคเณวุฒิได้ติดต่อให้จำเลยไถ่ถอนจำนองหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม 19,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงิน 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระขอให้ยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1656 ตำบลผาขาว อำเภอภูกระดึงจังหวัดเลย พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2527นายเดือน แก้วลิ้นไม้ บุตรเขยของจำเลยได้เช่าซื้อรถยนต์กระบะสี่ล้อ ยี่ห้อโตโยต้า สีขาวจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศิริโรจน์มอเตอร์ ซึ่งมีนายคเณวุฒิผู้ตายเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการในราคา 100,000 บาท โดยต้องวางเงินดาวน์ 20,000บาท นายเดือนบุตรเขยของจำเลยได้วางเงินดาวน์ ในวันทำสัญญาเพียง10,000 บาท คงค้างชำระ 10,000 บาท โดยกำหนดวางเงินดาวน์ในงวดต่อมา นายคเณวุฒิในฐานะเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิริโรจน์มอเตอร์ได้ยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ฉบับเลขที่ 1656 ของจำเลยไว้เป็นประกันการชำระเงินดาวน์จำนวน 10,000 บาท ที่ยังค้างชำระอยู่ และนายคเณวุฒิได้ให้จำเลยลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจในช่อง “ผู้มอบอำนาจ” และให้นางสนับกองปูนกลาง ภรรยาของจำเลยลงลายมือชื่อในช่อง “พยาน” โดยในขณะลงลายมือชื่อหนังสือมอบอำนาจยังไม่มีการกรอกข้อความอื่นใดทั้งสิ้นต่อมานายเดือนได้ชำระเงินดาวน์ที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาทให้นายคเณวุฒิครบถ้วนแล้วและได้ขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนจากนายคเณวุฒิ แต่นายคเณวุฒิเพิกเฉย ต่อมานายคเณวุฒิกับพวกได้ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยการกรอกข้อความเพิ่มเติมภายหลังโดยจำเลยไม่รู้เห็นและยินยอมแล้วนำไปจดทะเบียนจำนองจำเลยไม่เคยกู้เงินและรับเงินจำนวน 12,000 บาท จากนายคเณวุฒิแต่อย่างใด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาแต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า…ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การนำสืบของจำเลยที่ว่าการทำสัญญาจำนองไม่มีการมอบเงินกัน เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจำนองต้องห้ามตามกฎหมายเพราะสัญญาจำนองระบุชัดเจนว่าจำเลยได้รับเงินแล้ว เห็นว่า จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินจากนายคเณวุฒิ ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบว่า การทำสัญญาจำนองไม่มีการมอบเงินกันเป็นการนำสืบหักล้างว่าการกู้เงินไม่สมบูรณ์จำเลยจึงนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือสัญญาเช่าซื้อระบุว่านายเดือนเป็นผู้เช่าซื้อและไม่มีอะไรให้ยึดถือเป็นประกัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นผู้เช่าซื้อและนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้นายคเณวุฒิยึดถือไว้เป็นประกันเงินดาวน์เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่าการที่จำเลยนำสืบดังกล่าวเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นที่มาแห่งมูลหนี้กู้ยืมและจำนองที่โจทก์ฟ้อง มิใช่การนำสืบเพื่อบังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาเช่าซื้อ จึงมิใช่กรณีที่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share