คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เอกสารหมาย จ.1 แม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแต่ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งถึงข้อตกลงของคู่กรณีในอันที่จะทำการซื้อขายที่ดินโดยระบุชัดเจนทั้งตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ราคาที่ซื้อขายตลอดจนวิธีการและกำหนดเวลาในการปฏิบัติการชำระหนี้ได้สาระสำคัญครบถ้วน จึงมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายตามกฎหมายแล้วส่วนเอกสารหมาย จ.2 นั้นเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้มีปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แม้หากจะฟังว่าเป็นเงื่อนไขที่มิได้มีการตกลงกันมาก่อนก็ตาม ก็เป็นเพียงคำเสนอใหม่ของโจทก์ที่เสนอภายหลังแยกต่างหากได้เป็นคนละส่วนกัน นิติกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 ได้สนองรับ ความผูกพันเฉพาะในข้อเสนอใหม่ดังกล่าวย่อมสิ้นไปหาอาจยกเป็นเหตุอ้างให้กระเทือนถึงข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีผลสมบูรณ์เป็นนิติกรรมแล้วก่อนหน้านั้นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาซื้อขาย49,000,000 บาท กำหนดวางมัดจำในวันที่ 16 มีนาคม 2531 โดยให้โจทก์สั่งจ่ายเช็คแก่จำเลยที่ 1 จำนวนเงิน 5,000,000 บาท และนัดโอนกรรมสิทธิ์ภายในกำหนด 6 เดือนต่อมาเมื่อถึงกำหนดวางเงินมัดจำจำเลยทั้งสองได้ขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 30 มีนาคม 2531 และเมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองก็ไม่ยอมรับเงินมัดจำตามสัญญากลับบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 49,000,000 บาทหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 10,000,000บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า ข้อตกลงขายที่ดินฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2531 นั้นเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้เจรจากันโดยมิได้เจตนาให้เป็นสัญญาซื้อขายที่ดินที่จะผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ และเป็นที่เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าโจทก์จะต้องนำเงินมัดจำจำนวน 5,000,000 บาทมาวางในวันที่ 16 มีนาคม 2531 เสียก่อน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงจะเกิดขึ้นและผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ และต่อมาเมื่อถึงกำหนดวางเงินมัดจำ โจทก์ไม่ได้เตรียมเงินมัดจำมาแต่ได้จัดพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทขึ้นใหม่ มาเสนอต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเงื่อนไขของสัญญาที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามได้ คณะกรรมการของจำเลยที่ 1จึงได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกข้อตกลงใด ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธินำข้อตกลงซื้อที่ดินฉบับลงวันที่ 8 มีนาคม 2531 มาบังคับจำเลยได้ เพราะได้ระงับสิ้นไปแล้วโดยข้อตกลงที่มีเงื่อนไขใหม่ จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น และไม่ว่ากรณีใดก็ตามจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง การที่โจทก์นำความเท็จมาฟ้องจำเลยทั้งสอง ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายไม่สามารถขายที่ดินพิพาทได้ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด จึงฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และให้โจทก์ขอขมาต่อจำเลยทั้งสองโดยวิธีลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ 7 วันติดต่อกันขอให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่โจทก์ทำมาเสนอต่อจำเลยที่ 1 ใหม่นั้น เป็นข้อความและเงื่อนไขเหมือนที่ได้ตกลงไว้กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2531 ที่จำเลยทั้งสองยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อบอกเลิกสัญญากับโจทก์นั้นเนื่องจากราคาที่ดินพิพาทสูงขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ยอมขายให้โจทก์และหากจะถือว่าเป็นคำเสนอใหม่และจำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับจำเลยที่ 1 ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาเดิมอยู่ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และมิได้เป็นผู้นำข่าวไปลงหนังสือพิมพ์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์ชำระเงิน จำนวน 49,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นประเด็นแรกว่าเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เห็นว่าเอกสารหมาย จ.1 แม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งถึงข้อตกลงของคู่กรณี ในอันที่จะทำการซื้อขายที่ดินโดยระบุชัดเจนทั้งตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ราคาที่ซื้อขายตลอดจนวิธีการและกำหนดเวลาในการปฏิบัติการชำระหนี้ได้สาระสำคัญครบถ้วนจึงมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายบริบูรณ์ โดยผลแห่งข้อตกลงที่ปรากฏนี้ย่อมสมบูรณ์เป็นสัญญาจะซื้อขายตามกฎหมายแล้ว…
และสำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เงื่อนไขที่โจทก์เสนอใหม่ตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับ นิติกรรมจะซื้อจะขายจึงยังไม่เกิด ไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 เป็นข้อตกลงที่เกิดจากการเสนอสนองของคู่กรณีโดยถูกต้องสมบูรณ์มีสาระสำคัญครบถ้วนมีผลเป็นนิติกรรมแล้วคู่กรณีผู้แสดงเจตนาย่อมต้องผูกพันตามผลนั้น ส่วนเอกสารหมาย จ.2 นั้นเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้มีปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แม้หากจะฟังว่าเป็นเงื่อนไขที่มิได้มีการตกลงกันมาก่อนตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบก็ตาม ก็เป็นเพียงคำเสนอใหม่ของโจทก์ที่เสนอภายหลังแยกต่างหากได้เป็นคนละส่วนกัน นิติกรรมตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 ได้สนองรับความผูกพันเฉพาะในข้อเสนอใหม่ดังกล่าวย่อมสิ้นไปหาอาจยกเป็นเหตุอ้างให้กระเทือนถึงข้อตกลงตามเอกสาร จ.1 ซึ่งมีผลสมบูรณ์เป็นนิติกรรมแล้วก่อนหน้านั้นไม่
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มิได้วางมัดจำตามข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น โจทก์มีสำเนาเช็คของธนาคารมหานคร จำกัดตามเอกสารหมาย จ.8 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2531 สั่งจ่ายเงิน5,000,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตรงตามข้อตกลงทุกประการมานำสืบประกอบพยานบุคคลว่าได้เตรียมเพื่อชำระแก่จำเลยที่ 1 เป็นเอกสารของสถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เชื่อถือได้ พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ประกอบกับปรากฏข้อความบันทึกในเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับรองด้วยว่ามีการตกลงเลื่อนวันนัดกันจริงโดยไม่ปรากฏมีเงื่อนไขมีข้อโต้แย้งสงวนสิทธิ์ใด ๆ จึงฟังได้แน่ชัดว่าเหตุที่มิได้มีการวางมัดจำตามที่ตกลงไว้เพราะมีการเลื่อนนัดโดยความยินยอมตกลงกันทั้งสองฝ่าย จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่วางมัดจำตามข้อตกลงดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน

Share