คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมได้รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินแล้วเก็บไว้เองจึงมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188, 264, 265, 268, 352, 83, 91 และให้นับโทษจำเลยต่อและให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 38,000 บาท และอิฐแก้วนัมเบอร์ 02 (ที่ถูกเป็นนัมเบอร์ 09) จำนวน 300 ก้อน ราคา 25,500 บาท นัมเบอร์ 15จำนวน 300 ก้อน ราคา 25,500 บาท นัมเบอร์ 21 จำนวน 300 ก้อนราคา 28,500 บาท นัมเบอร์ 02 จำนวน 600 ก้อน ราคา 45,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ระหว่างพิจารณา นางสาวบุญมี เลิศธนาพูลทรัพย์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก (ที่ถูกประกอบด้วยมาตรา 265) แต่การใช้เกิดจากการทำปลอมขึ้นซึ่งเอกสารสิทธิดังกล่าว จึงให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 265(ที่ถูกจึงให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง) จำนวนสองกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี และจำเลยมีความผิดฐานยักยอกอิฐแก้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกอีกสองกระทงให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี นอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188และความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกสองกระทงให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ว่าแก้ไขข้อความในใบส่งของและใบรับเช็คแล้วนำไปเรียกเก็บเงิน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ8 เดือน เมื่อเรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แล้วรวมลงโทษหกกระทงจำคุก48 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 38,000 บาท และคืนหรือใช้ราคาอิฐแก้วนัมเบอร์ 02 (ที่ถูกนัมเบอร์ 09) จำนวน 300 ก้อน ราคา25,500 บาท นัมเบอร์ 15 จำนวน 300 ก้อน ราคารวม 25,500 บาทนัมเบอร์ 21 จำนวน 300 ก้อน ราคา 28,500 บาท นัมเบอร์ 02 จำนวน600 ก้อน ราคา 45,000 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางสาวบุญมีเลิศธนาพูลทรัพย์ โจทก์ร่วมเป็นภริยาของนายสมเกียรติ เจริญสุขมงคลสามีและครอบครัวของญาติฝ่ายสามีประกอบกิจการค้าขายเครื่องสุขภัณฑ์โดยบิดามารดาของสามี ใช้ชื่อในการค้าว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ ส่วนสามีใช้ชื่อร้านว่า บางกอกไทล์ ร้านจำหน่ายอิฐแก้วชื่อร้านรินทร์ทองมีสถานที่ประกอบการแห่งเดียวกันกับร้านบางกอกไทล์เลขที่ 413 ถนนมหาพฤฒาราม แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร สถานที่ที่ใช้เก็บสินค้าของร้านรินทร์ทองใช้โกดังสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ สินค้าอิฐแก้วที่ร้านรินทร์ทองจำหน่ายรับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ จำเลยเคยเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์มาก่อน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้แก้ไขข้อความในใบส่งของชั่วคราวเล่มที่ 07 เลขที่ 0339 ของร้านรินทร์ทองซึ่งมีข้อความเดิมว่า วันที่ 24 มีนาคม2534 อิฐแก้วนัมเบอร์ 02 จำนวน 600 ก้อน (100 กล่อง) ราคาต่อหน่วย75 บาท จำนวนเงิน 45,000 บาท ปรากฏตามคู่ฉบับใบส่งของชั่วคราวดังกล่าวเอกสารหมาย จ.7 แล้วแก้ไขข้อความใหม่ว่า วันที่ 3 เมษายน2534 อิฐแก้วนัมเบอร์ 01 จำนวน 1,800 ก้อน (100 กล่อง) ราคาต่อหน่วย68 บาท จำนวนเงิน 122,400 บาท ปรากฏตามใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และแก้ไขข้อความในใบส่งของเล่มที่ 07 เลขที่ 0345ของร้านรินทร์ทอง ซึ่งมีข้อความเดิมว่าวันที่ 27 มีนาคม 2534 อิฐแก้วนัมเบอร์ 09 จำนวน 300 ก้อน (40 กล่อง) ราคาต่อหน่วย 85 บาท จำนวน25,500 บาท อิฐแก้วนัมเบอร์ 15 จำนวน 300 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วย85 บาท จำนวนเงิน 25,500 บาท และอิฐแก้วนัมเบอร์ 21 ราคาต่อหน่วย95 บาท จำนวนเงิน 28,500 บาท รวมเป็นเงิน 79,500 บาท ปรากฏตามคู่ฉบับใบส่งของชั่วคราวดังกล่าวเอกสารหมาย จ.8 แล้วแก้ไขข้อความใหม่ว่าอิฐแก้วนัมเบอร์ 09 จำนวน 600 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วยจำนวนเงิน51,000 บาท อิฐแก้วนัมเบอร์ 02 จำนวน 600 ก้อน (50 กล่อง) ราคาต่อหน่วย78 บาท จำนวน 46,800 บาท รวมเป็นเงิน 97,800 บาท ปรากฏตามใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนี้จำเลยยังได้รับเช็คธนาคารทหารไทย จำกัดสาขาโชคชัย 4 ซึ่งร้านโชคชัยสุขภัณฑ์ สั่งจ่ายชำระหนี้ให้ร้านรินทร์ทองจำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายเงินจำนวน 21,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 ฉบับที่ 2 สั่งจ่ายเงินจำนวน17,900 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าจำเลยนำเช็คฉบับแรกเข้าฝากในบัญชีของจำเลย ที่ธนาคารทหารไทย จำกัดสาขามหาพฤฒาราม ส่วนเช็คฉบับที่สองภริยาของจำเลยนำไปเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็ค มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ตามฟ้องโจทก์ข้อ 5 และข้อ 6 ขัดแย้งกัน เป็นคำฟ้องที่ชอบหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และทำให้เช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมไร้ประโยชน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวชอบที่จะบรรยายฟ้องร่วมกันได้และเงินตามเช็คกับเช็คซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องข้อ 5 และข้อ 6 ก็เป็นเช็คคนละฉบับจึงหาขัดกันไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากนางสาวบุญมี เลิศธนาพูลทรัพย์ โจทก์ร่วมและนางสาวสมศรี มณีโชติ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นพนักงานขายของร้านรินทร์ทองสอดคล้องตรงกันว่า เดิมจำเลยเป็นพนักงานขายของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ ซึ่งเป็นของบิดามารดาสามีโจทก์ร่วมมาก่อน เมื่อโจทก์ร่วมมาเปิดร้านรินทร์ทอง จำเลยจึงได้เข้ามาเป็นพนักงานขายที่ร้านนี้ มีหน้าที่ออกไปหาลูกค้าเพื่อที่จะเสนอขายอิฐแก้วโดยมีตัวอย่างรายการสินค้าอิฐแก้วไปแสดงให้ลูกค้าดู เมื่อลูกค้าสั่งของจำเลยต้องจดรายละเอียดร้านที่สั่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ลูกค้าสั่ง มาส่งให้แก่นางสาวสมศรี มณีโชติ เพื่อทำใบส่งของชั่วคราว ในใบส่งของชั่วคราวจะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อร้าน จำนวนสินค้าที่ส่งและราคาด้วย ส่วนราคานั้นโจทก์ร่วมและหรือบิดามารดาของสามีโจทก์ร่วมเป็นผู้อนุมัติจากนั้นนางสาวสมศรี มณีโชติ จะมอบใบส่งของชั่วคราวให้แก่จำเลยเพื่อจำเลยจะนำไปเบิกสินค้าที่โกดัง ใบส่งของดังกล่าวทำขึ้นจำนวน3 ฉบับ มีสีขาว สีเหลือง และสีน้ำตาล เมื่อนำสินค้าไปส่งผู้รับสินค้าจะต้องลงชื่อรับไว้ในใบส่งของชั่วคราวแผ่นสีขาวฉบับนี้ จำเลยจะต้องนำส่งคืนที่ร้าน ส่วนแผ่นสีเหลืองมอบให้ลูกค้าเก็บไว้สำหรับแผ่นสีน้ำตาลจะติดไว้ในเล่ม ปรากฏว่าใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และเอกสารหมาย จ.6 มีการแก้ไขให้ผิดไปจากคู่ฉบับสีน้ำตาลที่ติดอยู่ในเล่มปรากฏตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.23 หลังจากโจทก์ร่วมตรวจพบว่ารายการสินค้าและจำนวนเงินที่ระบุไว้ในใบส่งของชั่วคราวฉบับสีขาวไม่ตรงกับที่ปรากฏในใบส่งของชั่วคราวคู่ฉบับสีน้ำตาลในเล่มโดยโจทก์ร่วมและนางสาวสมศรียืนยันว่าลายมือแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 เป็นลายมือของจำเลย หลังจากนั้นโจทก์ร่วมได้นำใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 ไปเก็บเงินจากร้านโชคชัยสุขภัณฑ์ และร้านสำโรงสหไทย ปรากฏว่าเจ้าของร้านทั้งสองคือนางสาวพรพรรณ สังขมณี และนางสาวพนิดา แซ่กัง ต่างเบิกความสนับสนุนพยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยมาเก็บเงินไปแล้ว ฝ่ายจำเลยเบิกความรับว่า เคยเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพพัฒนภัณฑ์ซึ่งเป็นกิจการของบิดามารดาสามีโจทก์ร่วม ต่อมาจำเลยได้มาเปิดร้านจำหน่ายอิฐแก้วใช้ชื่อว่าร้านรินทร์ทอง ใบส่งของชั่วคราวที่จำเลยนำไปส่งให้แก่ลูกค้านั้นในบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้นราคาก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จำเลยจึงจำเป็นต้องแก้ไขข้อความในใบส่งของชั่วคราวเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริงเป็นอำนาจของจำเลยที่จะทำได้ แม้กระทั่งเช็คที่ได้รับจากลูกค้าเมื่อจำเลยไปเบิกเงินมาแล้วสามารถเก็บเงินไว้ก่อนได้ถึง 90 วัน แล้วถึงจะนำส่งร้านรินทร์ทอง จำเลยไม่เคยเบิกอิฐแก้วจากร้านรินทร์ทองเพื่อไปส่งให้แก่ร้านโชคชัยสุขภัณฑ์และร้านสำโรงสหไทย เบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ร้านรินทร์ทองเป็นของโจทก์ร่วมหรือว่าเป็นของจำเลย เห็นว่าคำพยานโจทก์สมเหตุสมผลมีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าร้านรินทร์ทองนี้เป็นของโจทก์ร่วม จำเลยจึงเป็นเพียงพนักงานในร้านรินทร์ทองของโจทก์ร่วมเท่านั้น หน้าที่หลักของจำเลยคือการออกไปติดต่อหาลูกค้าให้แก่ร้านของโจทก์ร่วมด้วยการนำตัวอย่างสินค้าอิฐแก้วไปให้ลูกค้าเลือก เมื่อลูกค้ารายใดสนใจและต้องการ จำเลยต้องรวบรวมข้อมูลที่เรียกว่าใบสั่งซื้อส่งให้แก่นางสาวสมศรี มณีโชติ พนักงานในร้านโจทก์ร่วมเพื่อเขียนรายละเอียดของร้านที่สั่งสินค้า จำนวนสินค้าเพื่อจำเลยจะได้นำหลักฐานนี้ไปเบิกสินค้าจากโกดังสินค้า ส่วนราคาของสินค้านั้นหลังจากได้รับอนุมัติจากโจทก์ร่วมหรือผู้ใหญ่ของโจทก์ร่วมแล้วนางสาวสมศรีก็จะเป็นผู้เขียนลงไว้ในใบส่งของชั่วคราวเช่นกัน ในการนำสินค้าไปส่ง จำเลยจะต้องนำใบส่งของชั่วคราวฉบับแผ่นสีขาวลงชื่อรับสินค้าไว้ส่งคืนให้แก่นางสาวสมศรีคู่ฉบับแผ่นสีเหลืองให้ลูกค้าเก็บไว้ เมื่อข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่าใบส่งของชั่วคราวฉบับแผ่นสีขาวเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6มีการแก้ไขให้ต่างไปจากคู่ฉบับแผ่นสีน้ำตาลที่อยู่ในเล่มตรงบริเวณที่ขีดเส้นใต้สีแดงกำกับไว้โดยลบด้วยลิควิดเปเปอร์ (Liquid Paper)และเขียนเลข “จำนวนก้อน” “ขนาด” “นัมเบอร์” “ราคาต่อหน่วย” และ”จำนวนเงิน” ทับลงไป ตามช่องและตำแหน่งต่าง ๆ ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.23 ประกอบเอกสารหมาย จ.1 กับ จ.6 จำเลยยอมรับว่าตนเองเป็นผู้แก้ไขแต่อ้างว่าเป็นอำนาจของตนที่จะทำได้ เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่จำเลยจะต้องนำไปแสดงเพื่อเบิกสินค้าและเมื่อนำสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้า ๆ ลงชื่อรับสินค้าแล้ว จำเลยก็ต้องนำส่งคืนโจทก์ร่วมเพื่อใช้เป็นหลักฐานไปเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าในภายหลัง ที่โจทก์ร่วมกับนายสมชาติ เจริญสุขมงคล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันว่าจำเลยไม่มีอำนาจแก้ไขจึงสมเหตุผล เพราะหากยอมให้จำเลยซึ่งเป็นเพียงพนักงานขายในร้านมีอำนาจแก้ไขเอกสารใบสำคัญดังกล่าวย่อมเป็นการเปิดช่องให้ทำการทุจริตได้ตั้งแต่เริ่มเบิกสินค้าโดยสามารถเบิกได้เกินจำนวนที่ลูกค้าสั่งจริง สินค้าส่วนที่เกินจำนวน จำเลยย่อมนำไปแสวงหาผลประโยชน์ได้เป็นส่วนตัวซึ่งไม่มีเจ้าของกิจการค้ารายใดยอมให้เกิดเช่นนี้ได้ ข้ออ้างของจำเลยเป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีเหตุผลสนับสนุนการที่จำเลยแก้ไขเอกสารใบสำคัญการส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย จ.1และ จ.6 ซึ่งถือเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิในการเบิกสินค้าและสิทธิในการรับหรือเก็บเงินค่าสินค้า จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและเมื่อจำเลยนำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนี้ไปแสดงต่อนางสาวสมศรีเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเบิกสินค้าจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอม สำหรับเช็คที่ลูกค้าชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่ร้านโจทก์ร่วมตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าจำเลยจะเก็บไว้เองไม่ได้จะต้องนำส่งให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งถือว่าเป็นหลักการดำเนินทางการค้าโดยทั่วไปที่พนักงานขายจะต้องปฏิบัติเช่นนี้ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าตนเองมีสิทธิเก็บเงินที่รับมาจากเช็คของลูกค้าได้เป็นเวลาถึง90 วัน จึงขัดต่อเหตุผลทั้งเป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่รับเช็คของลูกค้าเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ร้านโจทก์ร่วม แต่กลับนำเช็คนั้นไปเบิกเงินตามเช็คแล้วเก็บไว้เองเช่นนี้ ย่อมเป็นการเบียดบังเงินตามเช็คนั้นเป็นของตนเองโดยทุจริตด้วย จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเช็คอันเป็นเอกสารของโจทก์ร่วมและทำให้ไร้ประโยชน์ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และฐานยักยอกเงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ดังที่โจทก์ฟ้อง”

พิพากษายืน

Share