คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 784,566.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องตั้งรูปเรื่องให้จำเลยรับผิดโดยกล่าวอ้างว่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมโครงการเชียงใหม่ของโจทก์ขาดหาย จำเลยกระทำผิดหน้าที่โดยปกปิดและเก็บสำนวนสรุปการสอบสวนไว้ เป็นเหตุให้คดีที่โจทก์ฟ้องนายปรีชา ผู้ที่ต้องรับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ขาดอายุความ การกระทำของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ข้ออ้างของโจทก์เพื่อให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จึงมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา 193/12 จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยความรับผิดทางแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2515 ข้อ 5 ที่กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ แต่ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จจะขออนุมัติผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อขยายเวลาสอบสวนต่อไปอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน ก็ได้ตามที่เห็นสมควรแต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ เมื่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอนุญาตแล้วให้รายงานการขยายเวลาการสอบสวนให้คณะกรรมการ อ.ส.ค. ทราบทุกครั้ง และในข้อ 6 ที่กำหนด ให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนพร้อมทั้งเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นดังนี้ 1) ความเป็นมาของกรณีที่เกิดการทุจริตหรือการเสียหาย 2) ผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด 3) มีการปฏิบัติละเมิดกฎหมายข้อบังคับ มติคณะกรรมการ ระเบียบและคำสั่งตลอดจนแบบธรรมเนียม และวิธีปฏิบัติในทางที่ชอบที่ควรหรือไม่ประการใด ๆ 4) ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและสาระสำคัญอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็น ทั้งนี้ให้แนบหลักฐานเอกสารต่างๆ ประกอบสำนวนการสอบสวนไปพร้อมกับรายงานผลการสอบสวน เมื่อได้ความว่าจำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเสนอผู้อำนวยการของโจทก์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบสวนถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน ทั้งในการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 จำเลยมิได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรงการกระทำของจำเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2515 ข้อ 5 และข้อ 6 การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับอันเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share