แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานว่าด้วย เงินทดแทน ได้กำหนดขั้นตอนการเรียกร้องและการสั่งการในเรื่องเงินทดแทนไว้แล้ว.โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวเสียก่อน ไม่ชอบที่จะฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนทันทีโดยมิได้อุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงานก่อน เพราะเป็นการขัดกับขั้นตอนในการที่จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย
คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของอธิบดีกรมแรงงานที่สั่งยืนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน ไม่ลบล้างคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนที่ยังมีผลบังคับโจทก์ผู้เป็นนายจ้างอยู่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานเงินทดแทน และคำสั่งอุทธรณ์ของอธิบดีกรมแรงงานพร้อมกันได้
อธิบดีกรมแรงงานเป็นผู้แทนของกรมแรงงานอันเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับปัญหาแรงงาน โดยกระทำในนามของกรมแรงงานนั่นเอง กรมแรงงานย่อมอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยในกรณีที่ผู้แทนกระทำการดังกล่าวแทนได้
ลูกจ้างโจทก์ได้รับอันตรายในขณะเดินทางไปเข้าเวรสำรองฉุกเฉินพนักงานขับรถของโจทก์ ณ ที่ทำการแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี ถือไม่ได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ เพราะยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่หรือลงมือทำงานให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในฐานะพนักงานเงินทดแทนได้ออกคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๙๓/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ สั่งให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนให้แก่นายประพันธ์ ผะอบแก้ว ลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถไฟ ประจำแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เวลา ๑๖.๕๐ นาฬิกา ขณะที่นายประพันธ์เดินทางจากบ้านพักที่นิคมรถไฟธนบุรีและข้ามทางรถไฟผ่านตู้รถสินค้าที่ตัดอยู่เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรสำรองฉุกเฉิน ณ ที่ทำการแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี เป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์กำลังเปลี่ยนตู้รถสินค้าดังกล่าว ตู้รถสินค้าได้เคลื่อนเข้ากระทบกัน นายประพันธ์จึงใช้มือขวาผลักรถทำให้ขอพ่วงหนีบนิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยมือขวาของนายประพันธ์ขาดถึงโคนนิ้ว ต้องรับการรักษาพยาบาลและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๔ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่อจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ มีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ ยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสามมิชอบด้วยกฎหมายเพราะนายประพันธ์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์และมิใช่เป็นการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๙๓/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ และคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๔
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมิให้มีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ ผู้มีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนคืออธิบดีกรมแรงงาน และนายเจริญ ศิริพันธ์ รองอธิบดีกรมแรงงาน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีเป็นผู้ออกคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ ๓ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาอุทธรณ์เงินทดแทนหรือมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๖๐ ได้กำหนดขั้นตอนของการอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไว้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานหรือไม่ก็ได้ หากไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งก็สามารถฟ้องต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ทันที ในกรณีที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีและอธิบดีมีคำสั่งแล้วฝ่ายที่ไม่พอใจก็นำคดีมาสู่ศาล เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของอธิบดีได้เช่นเดียวกัน แต่จะฟ้องพนักงานเงินทดแทนร่วมด้วยไม่ได้เพราะคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของอธิบดีลบล้างคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนไม่มีผลบังคับต่อไปอีก โจทก์จึงไม่มีมูลคดีที่จะฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้เช่นกัน และการที่นายประพันธ์ประสบอันตรายก็เนื่องจากการทำงานให้โจทก์หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้โจทก์ คำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทนและคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามและการที่นายประพันธ์ประสบอันตรายมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการเข้าเวรสำรองฉุกเฉินและมิใช่เนื่องจากการทำงานให้โจทก์ พิพากษาเพิกถอนคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๙๓/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๔ และคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ ของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคสุดท้ายได้บัญญัติขั้นตอนในการที่จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงาน ไว้ว่าในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์บัญญัติให้ร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้จะดำเนินการในศาลแรงงานได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้แล้ว และกรณีเงินทดแทนนี้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ได้กำหนดขั้นตอนการเรียกร้องและการสั่งไว้แล้ว โดยข้อ ๔๘ กำหนดว่าในกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างแจ้งต่อพนักงานเงินทดแทนแห่งท้องที่ที่นายจ้างมีสำนักงานหรือหน่วยงานตั้งอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่นายจ้างทราบ และข้อ ๔๙ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยยื่นข้อเรียกร้องเงินทดแทนจากนายจ้างต่อพนักงานเงินทดแทนที่นายจ้างมีสำนักงาน หรือหน่วยงานตั้งอยู่ตามแบบที่อธิบดีกำหนดโดยไม่ชักช้า เมื่อได้มีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ประกาศดังกล่าวข้อ ๕๖, ๕๗ กำหนดให้พนักงานเงินทดแทนดำเนินการสอบสวน และมีคำสั่งเกี่ยวกับเงินทดแทน และข้อ ๖๐ กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างหรือผู้ยื่นคำร้องเรียกร้องเงินทดแทนไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน ให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่ออธิบดีกรมแรงงานได้ภายใน ๓๐ วันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่ออธิบดีพิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งแล้ว ถ้าฝ่ายใดไม่เห็นชอบให้นำคดีไปสู่ศาลได้ดังนี้จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หลังจากจำเลยที่ ๑และที่ ๒ มีคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๙๓/๒๕๒๔ ทันทีดังอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้ต้องดำเนินการอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมแรงงานก่อนเมื่อคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของอธิบดีกรมแรงงานไม่เป็นที่พอใจโจทก์ โจทก์จึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานได้ และเมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีคำสั่งเงินทดแทนดังกล่าวแล้วย่อมมีผลผูกพันให้โจทก์ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายประพันธ์ และต่อมาอธิบดีกรมแรงงานมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ ยืนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนจึงยังคงมีผลบังคับโจทก์อยู่โจทก์ซึ่งไม่เห็นชอบด้วย ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งเงินทดแทนที่ ๓๙๓/๒๕๒๔ ของพนักงานเงินทดแทนพร้อมกับขอให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลยที่ ๓ ได้
ปัญหาที่จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่าการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมแรงงานซึ่งเป็นบุคคลผู้สั่งอุทธรณ์โดยเฉพาะและเอกเทศ มิใช่กระทำในฐานะตัวแทนหรือในนามกรมแรงงาน จำเลยที่ ๓ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเงินทดแทนและมิได้มีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ นั้น เห็นว่ากรมแรงงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับปัญหาแรงงานและการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยแรงงานโดยตรงกรมแรงงานในฐานะนิติบุคคลย่อมจะกระทำการดังกล่าวได้ก็โดยมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำแทนซึ่งได้แก่อธิบดีกรมแรงงาน ดังนี้แม้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานจะกำหนดให้อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเงินทดแทนต่ออธิบดีกรมแรงงานก็เป็นที่เห็นได้ว่าอธิบดีกรมแรงงานกระทำในฐานะเป็นผู้แทนหรือในนามของกรมแรงงงานนั่นเอง ดังนี้ เมื่ออธิบดีกรมแรงงานได้มีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนที่ ๖๗/๒๕๒๔ แล้วโจทก์ซึ่งไม่เห็นชอบด้วย ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวที่อธิบดีกรมแรงงานได้กระทำไปได้
ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า นายประพันธ์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ คำสั่งเงินทดแทนและคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนจึงชอบด้วยเหตุผลแล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าวันที่นายประพันธ์ลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตราย นายประพันธ์มีหน้าที่จะต้องเข้าเวรสำรองฉุกเฉินพนักงานขับรถของโจทก์ ณ ที่ทำการแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี ตั้งแต่เวลา ๑๖ นาฬิกาถึง ๒๔ นาฬิกา แต่ขณะเดินจากบ้านพักของตนที่นิคมรถไฟธนบุรีเพื่อไปเข้าเวรสำรองฉุกเฉิน ได้ข้ามทางรถไฟผ่านช่วงตู้รถสินค้าที่ตัดอยู่เผอิญเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์สับเปลี่ยนตู้รถสินค้า ตู้รถสินค้าได้เคลื่อนกระทบกันนายประพันธ์จึงใช้มือขวาผลักรถ เป็นเหตุให้ขอพ่วงหนีบนิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยของมือขวาขาดถึงโคนนิ้ว ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา ๓๒ วัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวนายประพันธ์ยังเดินทางไปไม่ถึงที่ทำงานแขวงสารวัตรรถจักรธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่เข้าเวรสำรองฉุกเฉิน ยังมิได้เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่หรือลงมือทำงานให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่านายประพันธ์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์
พิพากษายืน