คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1310/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขู่ให้จำเลยแก้วันในสัญญาประนีประนอมยอมความเดิมจาก พ.ศ.2521 เป็น 2520 โดยว่าถ้าไม่แก้จะนำเช็คซึ่งจำเลยออกให้ผู้อื่นและตกอยู่ในมือโจทก์ไปฟ้องคดีอาญาว่าออกเช็คไม่มีเงินการขู่ดังนี้เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตตามปกตินิยมไม่เป็นโมฆียะตามมาตรา127

ย่อยาว

จำเลยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเดิมระบุการใช้เงิน พ.ศ. 2521ต่อมาโจทก์บังคับให้แก้เป็น พ.ศ. 2520 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 153,800 บาท กับดอกเบี้ยในต้นเงินตามฟ้อง จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มีข้อตกลงตามข้อ 1 ค(1) ว่า จำเลยจะผ่อนชำระหนี้ค่าเรือจำนวนแปดหมื่นบาทก่อน โดยจะผ่อนให้หมดสิ้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2521 และ (3) ส่วนค่าที่ดินที่ค้างนั้น จำเลยจะผ่อนชำระให้เดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท นับแต่เดือนมิถุนายน 2520 จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 จริง แต่ต่อสู้ว่าจำเลยยังไม่ผิดสัญญา เพราะตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามสำเนาภาพถ่ายท้ายฟ้องข้อ 1 ค(3)เดิมจำเลยจะผ่อนชำระให้เดือนละไม่ต่ำกว่าห้าพันบาท นับแต่เดือนมิถุนายน2521 โจทก์กับพวกได้ร่วมกันขู่เข็ญบังคับให้จำเลยแก้เป็นเดือนมิถุนายน 2520 หากจำเลยไม่ทำตามโจทก์จะเอาเช็คที่จำเลยออกให้แก่ผู้อื่นซึ่งตกอยู่ในมือโจทก์ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยฐานออกเช็คไม่มีเงินจำเลยกลัวจึงยอมให้ตามความประสงค์ของโจทก์ หากไม่มีการแก้ไขดังกล่าวแล้ว จำเลยก็ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า การแก้ไขกำหนดเวลาการชำระหนี้นั้น จำเลยได้แก้ไขเพราะถูกข่มขู่หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแก้ไขนั้น จำเลยอ้างว่าต้องยินยอม เพราะหากไม่ยินยอม โจทก์จะเอาเช็คที่จำเลยออกให้แก่ผู้อื่นซึ่งตกอยู่ในมือโจทก์ไปฟ้องคดีอาญาฐานออกเช็คไม่มีเงิน การที่โจทก์ขู่เช่นนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะเอาผิดกับจำเลยในทางอาญา อันเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 127 หาจัดว่าเป็นการข่มขู่อันจะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเสื่อมเสียไปไม่ กรณีจึงไม่จำต้องมีการสืบพยานตามข้อต่อสู้ของจำเลย”

พิพากษายืน

Share