แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
วันเกิดเหตุขณะผู้เสียหายกำลังจัดของอยู่กลางร้าน จำเลยทั้งสี่เข้ามาในร้านผู้เสียหายถามว่ามาซื้ออะไร จำเลยที่ 1 บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยในร้าน ต้องการเงิน 5,000 บาท เป็นค่าดูแล ผู้เสียหายรู้สึกไม่ปลอดภัยจึงเดินไปหลังร้านโทรศัพท์ไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่ติด เมื่อเดินออกมาหน้าร้านก็เห็นจำเลยทั้งสี่เดินขึ้นรถยนต์กระบะไป จะเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและพูดขอเงินเป็นค่าดูแลร้านเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามแต่อย่างใด และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้รอเอาเงินจากผู้เสียหายตามที่พูด คำพูดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและทรัพย์สินของผู้เสียหาย ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันข่มขืนใจนายอัครพลวรพงศ์พัฒน์ ผู้เสียหาย เพื่อให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงิน 5,000 บาท แก่จำเลยทั้งสี่และขู่เข็ญว่าถ้าไม่ให้เงินจะไม่รับรองความปลอดภัย พร้อมได้ตรวจค้นร้านค้าของผู้เสียหายอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายจนผู้เสียหายยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ตามที่ข่มขืนใจ เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ผ – 5271 สุราษฎร์ธานี และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิไม่มีทะเบียนที่ใช้เป็นยานพาหนะหลบหนี และจับกุมจำเลยที่ 4 พร้อมรถยนต์อีซูซุไม่มีทะเบียนเป็นของกลาง จำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2ในคดีหมายเลขแดงที่ 556/2542 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 ในคดีหมายเลขแดงที่ 684/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337,83 นับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต่อจากโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 556/2542 ของศาลชั้นต้น และบวกโทษที่รอไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 684/2539ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อและขอให้บวกโทษ จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี บวกโทษจำคุก 1 เดือนของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 684/2539 ของศาลชั้นต้น เข้ากับคดีนี้รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 1 เดือน และนับโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 556/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสี่เข้าไปในร้านอาหารวังกุ้งของนายอัครพลวรพงศ์พัฒน์ ผู้เสียหาย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลา 17.30 นาฬิกาขณะที่ผู้เสียหายกำลังจัดของอยู่บริเวณกลางร้าน มีจำเลยทั้งสี่เข้ามาในร้าน ผู้เสียหายถามว่าต้องการซื้ออะไร จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะพูดว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มาดูแลความเรียบร้อยในร้าน ต้องการเงิน 5,000 บาท เพื่อเป็นค่าดูแลความเรียบร้อยในร้านผู้เสียหายกลัวว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยจึงเดินไปที่หลังร้านซึ่งเป็นครัว และบอกนางวิลัยรัตน์ วัฒนศิริ ภรรยาว่า เจ้าพนักงานตำรวจมาขอเงิน 5,000 บาท เป็นค่าดูแลความเรียบร้อยในร้าน แล้วผู้เสียหายโทรศัพท์ไปสถานีตำรวจ แต่ไม่ติด จึงได้เดินออกมาหน้าร้าน เห็นจำเลยทั้งสี่เดินไปขึ้นรถยนต์กระบะซึ่งจอดอยู่ข้างร้านผู้เสียหาย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 เพียงอ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและพูดขอเงินเป็นค่าดูแลความเรียบร้อยในร้านเท่านั้น ซึ่งผู้เสียหายจะให้หรือไม่ให้ก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือบุคคลที่สามแต่อย่างใด แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายตอบทนายความจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้พูดขู่ว่า หากไม่ให้เงินแล้วจะทำอะไรผู้เสียหาย ประกอบกับเมื่อผู้เสียหายออกมาจากหลังร้านจำเลยทั้งสี่ก็ไม่ได้รอเอาเงินจากผู้เสียหายตามที่พูดแต่อย่างใด ทั้งยังพากันเดินออกจากร้านผู้เสียหายอีกด้วย ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 พูดแต่เพียงว่า เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยในร้าน ต้องการเงิน 5,000 บาท เพื่อเป็นค่าดูแลความเรียบร้อยในร้านนั้นยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือภรรยาผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน