คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ร่วมไปกับจำเลย พูดเป็นการทักท้วงการกระทำของจำเลยผู้ลงมือกระทำขึ้นในขณะนั้นว่า อ้าว ทำไมไปทำเขาอย่างนั้น ทำอย่างนี้พากันฉิบหายหมดและเมื่อเกิดเหตุแล้ว ก็พลอยหนีไปด้วยและไปตามถนนอย่างธรรมดา เช่นนี้ แสดงว่าผู้ที่ไปด้วยกับจำเลยนั้น มิได้ร่วมมือกระทำผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 1 มิถุนายน 2500 จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งบังอาจร่วมกระทำผิดด้วยกัน มีอาวุธปืนและมีดเป็นอาวุธปล้นเอารถจักรยาน 1 คัน ราคา 950 บาท ของนายอวน แซ่คูไป

จำเลยที่ 1 รับสารภาพ

จำเลยที่ 2-3 ปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทั้ง 3 กระทำผิดตามฟ้อง ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340-83 จำคุกคนละ 10 ปี ลดโทษจำเลยที่ 1 ตาม มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 อายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3 ตาม มาตรา 76 จำคุก 8 ปี 6 เดือน และลดตาม มาตรา 78 อีก 1 ใน 3 จำคุก 4 ปี 5 เดือน 10 วัน ของกลางริบและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 950 บาท แก่เจ้าทรัพย์

จำเลยที่ 2-3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ 2-3 ไม่ได้ร่วมมือด้วย เพียงจำเลยที่ 1 กับอีกคนหนึ่งเท่านั้นกระทำ จำเลยที่ 1 จึงผิดฐานชิงทรัพย์แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ แต่เป็นเหตุในลักษณะคดี จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 จำคุก 8 ปี ลดตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุก 4 ปี ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2-3 ของกลางเฉพาะมีดพก 1 เล่ม คืนจำเลยที่ 2 นอกนั้นเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2-3 ได้พูดเป็นการทักท้วงการกระทำของจำเลยที่ 1 และอีกคนหนึ่งผู้ลงมือชิงทรัพย์ของผู้เสียหายขึ้นในขณะนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2-3 มิได้ร่วมรู้กับคนร้ายทั้งสองในการชิงทรัพย์เกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2-3 พลอยหนีไปด้วยอาจเกิดจากความกลัวที่เห็นว่าตนมากับคนร้ายก็เป็นได้ และตอนจำเลยที่ 1 วิ่งไปเกาะท้ายรถจักรยานจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 ขู่จะยิงระหว่างทางมีทางแยกที่จะหนีไปได้หลายแห่ง แต่จำเลยที่ 2 ก็คงขี่รถจักรยานไปตามถนนตลอดไป เป็นเหตุที่แสดงว่า จำเลยที่ 2-3 มิได้ร่วมมือกับคนร้าย พิพากษายืน

Share